BCH เด้ง 1% รับ สปส.” เคาะจ่ายชดเชย “โรคร้ายแรง” 12,000 บาท ลุ้นรายได้ปี 68 โต 10%
BCH ดีด 1% รับข่าวดี “สปส.” เคาะแล้วจ่ายชดเชยรักษาโรคร้ายแรงที่ 12,000 บาท/AdjRW คาดเริ่มประกาศใช้ต้นปีหน้า มั่นใจหนุนรายได้ปีหน้าโต 10%
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (2 ธ.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ณ เวลา 10:44 น. อยู่ที่ระดับ 16.70 บาท บวก 0.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.60% สูงสุดที่ระดับ 16.80 ล้านบาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.60 ล้านบาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 23.62 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นดีดกลับขึ้นมา ตอบรับข่าว ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ BCH เปิดเผยในงานสัมมนา “ถอดรหัสหุ้น ESG เด่น..กำไรแกร่ง ชนะตลาด” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจว่า ล่าสุดคณะกรรมการเฉพาะกิจ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ข้อสรุปกำหนดจ่ายเงินชดเชยโรคร้ายแรง (AdjRW มากกว่า 2) แบบปลายเปิด และค้ำประกันจ่ายที่ 12,000 บาท/AdjRW จากเดิมจ่ายอยู่ที่ 9,800 บาท คาดว่าจะประกาศกำหนดใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2568 เป็นต้นไป และปลดล็อกเรื่องการปรับขึ้น-ลงอัตราการจ่ายชดเชยดังกล่าวอีกต่อไป
โดยในปี 2568 บริษัทคาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุดในฐานะผู้นำและผู้ให้บริการผู้ป่วยประกันสังคมอันดับ 1 ของประเทศมายาวนานกว่า 15 ปี จากทั้งหมด 400 กว่าโรงพยาบาล หากมีการปรับอัตราการจ่ายชดเชย AdjRW/รายเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/AdjRW ภายใต้การค้ำประกัน ทั้งนี้ปัจจุบัน BCH มีฐานผู้ป่วยประกันสังคมกว่า 1,030,000 ราย จากโควตาทั้งหมด 1.8 ล้านราย
นอกจากนี้ จากแผนการขยายโรงพยาบาลใหม่ และการเปลี่ยนรอบโรงพยาบาลใหม่ในช่วงต้นปีของทุกปี น่าจะช่วยให้ BCH มีอัตราการเติบโตของผู้ป่วยประกันสังคมในปี 2568 ทะลุ 40,000 ราย และอาจได้โควตาเพิ่มขึ้น 2 ล้านรายอีกด้วย
ส่วนกรณีสำนักงานประกันสังคมได้สั่งให้โรงพยาบาลชะลอการให้บริการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ (Morbid Obesity) Pre-authorized : PA ชั่วคราวนั้น มองว่ามีหลายโรงพยาบาลที่เบิกจ่ายไม่ตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ค่า MBI หรือค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เซนติเมตร) ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือไม่ได้มีโรคประจำตัว ต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ และหากพบทำผิดกฎเกณฑ์ก็ควรโดนโทษตามกฎเกณฑ์
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/2567 มั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายธุรกิจจากหลายภาคส่วน เช่น การรีโนเวตโรงพยาบาลแห่งเดิมทั้ง 15 แห่ง และการเปิดบริการใหม่ เช่น บริษัท ศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี จำกัด (เปิดวันที่ 2 กันยายน 2567) ถือเป็นคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมรังสีรักษาแห่งแรกในจังหวัดนนทบุรี ที่มีบริการด้านรังสีรักษาครบวงจร ซึ่งได้การตอบรับที่ดีมาก
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินทั้งปี 2567 บริษัทมองว่ารายได้จากการให้บริการทางการแพทย์โดยรวมน่าจะเติบโตได้ไม่ถึงสองหลัก แต่ยังเติบโตได้เป็นตัวเลยหลักเดียวจากปีก่อน ที่มีรายได้รวม 11,848.13 ล้านบาท เนื่องจากทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) ยังคงเข้าใช้บริการอย่างหนาแน่น และผู้ป่วยใน (IPD) มีอัตราการครองเตียงในระดับสูงเกิน 70-80% ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบรายได้กลุ่มผู้ป่วยคูเวต และประกันสังคมหายไปบางส่วนได้เกือบ 100%
นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นการลงทุนขยายสาขาบริการของโรงพยาบาลเพิ่มต่อเนื่อง อาทิ 1.โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ ขนาดบริการ 250 เตียง มูลค่า 1,650 ล้านบาท ปัจจุบันเดินหน้าก่อสร้างแล้ว และกำหนดเปิดบริการภายในปี 2569 หรือต้นปี 2570
2.การขยายโรงพยาบาลที่พัทยากลาง เนื่องจากมีที่ดินเดิมอยู่แล้วบนพื้นที่ 16 ไร่ เบื้องต้นคาดว่าจะสร้างโรงพยาบาลขนาดไม่ต่ำกว่า 150 เตียง 3.แผนการขยายโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 29 ไร่ และแผนขยายโรงพยาบาลในส่วนอื่น ๆ ตามแผนระยะยาวของบริษัท
ส่วนความคืบหน้าการคัดเลือกโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทยที่รัฐบาลคูเวตจะคัดเลือกให้ติด 1 ใน 3 ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคูเวตเพื่อส่งผู้ป่วยมารักษา และสามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่ง BCH มั่นใจจะติดเป็นหนึ่งใน 3 โรงพยาบาลที่ถูกคัดเลือกอย่างแน่นอน หลังจากทางรัฐบาลคูเวตมีการขออัตราราคาค่ารักษาไป และมาตรฐานของกลุ่ม BCH ต่ออัตราเฉลี่ยของค่ารักษา ก็ค่อนข้างตอบโจทย์อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน BCH มีสัดส่วนผู้ป่วยชาวต่างชาติประมาณ 18% ของผู้ป่วยรวมทั้งหมด และผู้ป่วยคูเวตที่หายไปส่งผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ขยายตัวค่อนข้างสูง เช่น กัมพูชา ขยายตัว 50% และเมียนมา 20% เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยกลุ่มตะวันออกกลางเข้ามาเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 50% และอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่นิยมมารักษาฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และผู้มีบุตรยาก (IVF) เป็นต้น
ส่วนผู้ป่วยคูเวต หากกลับมารักษาในปี 2568 ถือเป็น Upside จะประมาณการค่อนข้างมาก เนื่องจากการรักษารายหัวส่วนใหญ่เข้ามารักษาเกี่ยวกับแผลเบาหวาน ใช้เวลารักษานาน และใช้จ่ายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อราย
“บริษัทคาดว่ารายได้ผู้ป่วยจากชาวต่างชาติในปี 2567 จะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ลดลง 3% เหลือ 15% ของรายได้รวม จากเดิมปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 18% ด้วยจำนวนรายหัวมากกว่า 150,000 ราย เทียบกับปี 2562 ที่อยู่ราว 80,000 ราย ส่วนในปี 2568 จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติจะกลับมาเติบโตสูงอย่างแน่นอน เฉียด 20% รวมไปถึงเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ที่ทำผลงานได้ดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลแบรนด์เดียวที่สปป.ลาว ที่มีมาตรฐานสูงสุด และถูกคัดเลือกเข้าไปตั้งกิจการจากรัฐบาล” ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว
ด้านฐานะทางการเงินของ BCH ค่อนข้างแข็งแกร่งมาก เนื่องจากมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.25 เท่า แล้วมีอัตราหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.07% ซึ่งแทบเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้เลย เนื่องจากในช่วงเกิดภาวะโควิด-19 มีกำไรถึงระดับหมื่นล้านบาท โดยสามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด และรายได้หรือกำไรจากผลการดำเนินงานยังดีต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือหุ้นกู้วงเงินรวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีเตียงรวมประมาณ 2,323 เตียง หรือคิดอัตราการครองเตียง 70-80% (บางโรงพยาบาลต้องรอเตียงเกิน 100%) คาดว่าสิ้นปี 2567 จะมีเตียงในพอร์ตเกือบ 3,000 ราย เนื่องจากสามารถขยายเตียงรองรับได้เพิ่มเติม (ช่วงโควิด-19 เคยจัดความถี่เตียงสูงสุด 5,000 ราย)
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทมั่นใจว่ารายได้จากการให้บริการทางการแพทย์จะกลับมาเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอีกครั้งเมื่อเทียบกับปี 2567 เนื่องจากจะมีการจ่ายค่าชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมเรตไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท และฐานผู้ป่วยต่างชาติที่ยังขยายตัวสูง