CPF ชี้ “ความยั่งยืนสวัสดิภาพสัตว์” เสริมสร้างมั่นคงทางอาหาร-เพิ่มประสิทธิภาพผลิต

CPF มองความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองผู้อำนวยการด้านมาตรฐานฟาร์มและข้อกำหนดลูกค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เผยว่าในยุคที่อุตสาหกรรมเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Sustainable Animal Welfare) เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบอาหารที่มั่นคง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามเส้นทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) เพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกชีวิตบนโลก

โดยการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการอาหารที่ยั่งยืน และแรงผลักดันด้านสวัสดิภาพสัตว์ การสร้างสมดุลระหว่างการเพิ่มผลผลิต การรักษาสิ่งแวดล้อม และดูแลสัตว์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตลอดจนเป็นแรงกระตุ้นให้การเลี้ยงสัตว์ปีกเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

สำหรับบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลกรวมถึงบริษัท ตระหนักดีถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมสู่การทำฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ด้วยการนำแนวทาง “ความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์” มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาสมดุลระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จากการนำหลักการสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedoms) ซึ่งเป็นพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์สู่ความยั่งยืน มาประยุกต์ใช้ในการดูแลสัตว์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1.อิสระจากความหิวกระหาย

2.อิสระจากความไม่สบายกาย

3.อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย

4.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

5.อิสระจากความกลัวและความเครียด

โดยหลักสวัสดิภาพสัตว์ จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันโรค และทำให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพสูงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถลดต้นทุนในระยะยาวและเพิ่มผลผลิตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Internet of Things (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซ็นเซอร์อัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการจัดการฟาร์มแบบ Smart Farm ช่วยเพิ่มความแม่นยำและเรียลไทม์ในการติดตามสุขภาพสัตว์ การจัดการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ลดความเครียดและป้องกันการเกิดโรคระบาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์สู่ระดับสากล

นอกจากนี้ การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลในระบบคลาวด์ (Cloud-based Data Management) ช่วยให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานได้ในระยะยาว

ในขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าอาหารยังได้เพิ่มเงื่อนไขด้านความรับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบ เช่น การใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และถั่วเหลืองจากแหล่งเพาะปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบย้อนกลับได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยซีพีเอฟ ตั้งเป้าหมาย “Zero Deforestation” ภายในปี 2568 เพื่อการจัดหาวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

โดยความยั่งยืนด้านสวัสดิภาพสัตว์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดนี้ ทุกชีวิตจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพื่อสมดุลในอนาคตที่ดีกว่าระหว่าง คน สัตว์ และโลกของเรา

Back to top button