ก.ล.ต. สั่ง “TRITN” ชี้แจงเหตุรับโอน “กิจการทั้งหมดจากบุคคล” อาศัยมติประชุมผู้ถือหุ้น
ก.ล.ต. สั่งการให้ TRITN ชี้แจงข้อมูลการเข้าทำธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องและขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้ บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) หรือ TRITN ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 กรณีคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้นำเสนอวาระเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์โดยการรับโอนกิจการทั้งหมดและออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดกรณีที่มีนัยสำคัญซึ่งเข้าข่ายเป็นรายการเกี่ยวโยง การเพิ่มทุน การขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ (Whitewash) ต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยคาดว่าจะจัดประชุมวันที่ 9 มกราคม 2568
ตามที่ TRITN ได้เปิดเผยสารสนเทศว่าจะรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer: EBT) ของบริษัท บ้านไร่เตชะอุบล โฮลดิ้ง จำกัด (บ.บ้านไร่โฮลดิ้ง) และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Private placement) ร้อยละ 49.18 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการได้มาซึ่งทรัพย์สินของ บ.บ้านไร่โฮลดิ้ง ได้แก่ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จ.ชลบุรี เนื้อที่รวม 732-2-90.7 ไร่ โดย บ.บ้านไร่โฮลดิ้ง จะขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อทั้งหมดของ TRITN (Whitewash) และภายหลังจากการทำ EBT บ.บ้านไร่โฮลดิ้งจะเลิกบริษัทและชำระบัญชี และจะโอนหุ้น TRITN ให้แก่ผู้ถือหุ้น ได้แก่ นายสดาวุธ เตชะอุบล นางสาวหลุยส์ เตชะอุบล และนายทรงชัย อัจฉริยหิรัญชัย
โดยภายหลังการทำธุรกรรมดังกล่าว นายสดาวุธ นางสาวหลุยส์ (และคู่สมรส) และนายทรงชัย จะมีสัดส่วนการ
ถือหุ้นใน TRITN ประมาณร้อยละ 24.99 ร้อยละ 24.98 และร้อยละ 10.52 ตามลำดับ
ก.ล.ต พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อมูลที่ TRITN เปิดเผยในระบบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink) ยังมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน จึงเป็นกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ผู้ถือหุ้น หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน จึงอาศัยตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยให้ TRITN ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของการได้มาซึ่งที่ดินขนาดใหญ่ (เนื้อที่ประมาณ 732 ไร่) ในขณะที่ TRITN มีแผนที่จะพัฒนาโครงการเพื่อการพักผ่อนและ
การนันทนาการ (Leisure and Entertainment) ภายใต้ชื่อโครงการ The Haven เพียง 237 ไร่ ส่วนที่เหลือยังเป็นสวนยางพาราและบางส่วนใช้เป็นที่จอดรถ และการชำระด้วยหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น (control dilution) อย่างมีนัยสำคัญ
รวมทั้งยังปรากฏว่ามีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ของที่ดินผืนที่ได้มา ซึ่งทำให้ TRITN ต้องจดภาระจำยอมทางเข้าออกสำหรับรถยนต์และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้แก่บุคคลดังกล่าว อันอาจทำให้ TRITN เสียโอกาสและมีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการบริเวณพื้นที่บริเวณดังกล่าว รวมทั้งที่ดินที่ได้มาบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการใช้ประโยชน์