“แพทองธาร” วิดีโอคอล 12 ผู้ว่าฯ กำชับเงินเยียวยา ลั่นจ่อลงใต้ ช่วงฟื้นฟูน้ำท่วม
นายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลกับ ผู้ว่าฯ 12 จังหวัด วางแผนลงพื้นที่ภาคใต้แน่นอน เล็งไปช่วงฟื้นฟู เพราะไม่อยากให้วุ่นวาย กำชับเงินเยียวยาต้องถึงมือประชาชนเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ธ.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เพื่อรับรายงานความเสียหายและการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายภาสกร บุญญลักษม์ ปลัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
นายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงต้นการประชุมว่า วันนี้มีความตั้งใจติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ 12 จังหวัด และดีใจที่ได้พบผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด เนื่องจากทราบดีว่าถ้าไปในจังหวัดจะเกิดความวุ่นวาย แต่วางแผนจะลงพื้นที่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะไปฟื้นฟูในพื้นที่ ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 9,000 บาท วันนี้จะขอติดตามความช่วยเหลือ โดยเฉพาะไทม์ไลน์การมอบเงินเยียวยาให้ชาวบ้าน และแบ่งการจ่ายเงินเยียวยาแต่ละครั้งอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เวลา 16:31 น. นางสาวแพทองธาร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra ตอนหนึ่งระบุว่า “ขณะนี้ สถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ยังคงมีน้ำท่วมอยู่ และในช่วงสัปดาห์หน้าในจังหวัดปัตตานี จะมีฝนตกเพิ่มเติมด้วย ซึ่งดิฉันได้เน้นย้ำในเรื่องการเตือนภัย และการดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำให้เร่งเงินเยียวยาผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ตามมติ ครม. ให้เร็วที่สุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็วค่ะ ซึ่งเราได้นำบทเรียนจากทางภาคเหนือมาปรับปรุงการดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาให้กับภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ที่ประชุมดำเนินการ 5 เรื่อง ดังนี้
- ให้ทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่กำลังประสบภัยอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย อาหาร ยา และอื่นๆ และขอให้พิจารณาถึงความต้องการพิเศษ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง คนชรา และกลุ่มผู้อ่อนไหวที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ
- ให้ทุกหน่วยงานวางแผนฟื้นฟูเรื่องการประกอบอาชีพของประชาชนในระยะยาว ให้กลับมาประกอบอาชีพได้โดยเร็วที่สุด
- เร่งฟื้นฟูสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า ประปา ในพื้นที่ประสบอุทกภัย และรวมถึงมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภคด้วย
- เตรียมแผนการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต ให้เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนภัยอย่างทันท่วงที พร้อมเตรียมแผนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่สูงหรือภูเขาที่มีความเสี่ยงต่อดินสไลด์ ขอให้กรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยเฝ้าระวังและประกาศเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- เตรียมทรัพยากรทุกด้านให้พร้อมรับมือ เช่น เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย กำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมในพื้นที่ที่ถูกประกาศแจ้งเตือน
“สุดท้ายค่ะ ดิฉันขอให้กำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างเต็มกำลัง และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาค่ะ” นายกรัฐมนตรี ระบุทิ้งท้าย