ซีเรียยุคหลังตระกูลอัสซาด
หลังจากการที่รัฐบาลอัสซาดที่ผูกขาดการครองอำนาจที่ยาวนานมาถึง 50 ปีเศษ ต้องยอมแพ้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่หนุนโดยตะวันตกและอิหร่าน
หลังจากการที่รัฐบาลอัสซาดที่ผูกขาดการครองอำนาจที่ยาวนานมาถึง 50 ปีเศษ ต้องยอมแพ้แก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่หนุนโดยตะวันตกและอิหร่าน พร้อมกับหอบสมบัติไปเสวยสุขที่รัสเซีย คำถามที่ตามมาคือ อนาคตของซีเรียจะเป็นเช่นไร?
คำตอบไม่ง่ายนัก และค่อนข้างเจ็บปวด
เพราะแม้ว่าเสรีภาพที่ได้รับมาในต้นทุนราคาแพงมาก เนื่องจากการสู้รบในสงครามตัวแทนด้วยอาวุธหนักเต็มรูปแบบ ทำให้ดินแดนแห่งนี้เสมือนต้องคำสาปจากเศรษฐกิจกิจที่ล่มสลาย และเมืองที่ถูกทำลายย่อยยับเช่นเมืองเก่าแก่อย่าง “อะเลปโป” ที่ถูกทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จนย่อยยับไม่เหลือซากอะไรเลย
ที่ร้ายกว่านั้น อิสราเอลซึ่งเป็นศัตรูอันยาวนานก็คงไม่ยินยอมให้รัฐบาลซีเรียยุคหลังตั้งตัวเป็นศัตรูแบบเดิมเป็นแน่ คงต้องหาทางแทรกแซงการเมืองภายในซีเรียเต็มที่
เลวร้ายขึ้นไปอีก โครงสร้างทางการเมืองในซีเรียที่คุ้นเคยกับการเมืองแบบเผด็จการน่าจะไม่เปิดช่องให้กับนักการเมืองสายเสรีนิยมเข้ามามีบทบาทชี้นำได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่หนุนหลังโดยอิหร่านที่ร่วมต่อสู้มายาวนานจนโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดไปได้
พลังเสรีนิยมที่ออกมาแสดงความดีใจกับการขุดรากถอนโคนรัฐบาลเผด็จการอัสซาดก็ต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมนั้นมีซ่อนเร้นอยู่เสมอในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ภายใต้แรงกดดันมหาศาลของรัฐอาหรับที่มีอุดมการณ์แบบอิสลามมิกซิสม์ที่ครอบงำประเทศอยู่
ที่แน่นอนก็คือ ความปรารถนาชีวิตใหม่ในซีเรียนั้นจะถูกกลืนกินด้วยอุดมการณ์แบบมุสลิมที่มักจะปฏิเสธวิธีแบบชาวตะวันตก (เสรีนิยม) ดังกรณีของอิหร่าน และล่าสุดอาหรับสปริงในอียิปต์ที่ล้มเหลวไปแล้วอย่างน่าเศร้า
ทั้งหมดนี้ ใครจะหาว่าผู้เขียนตีตนไปก่อนไข้ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ หากปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นจริงก็น่าเสียดาย
ท้ายสุดนี้ หวังว่าเจตนารมณ์ของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจะไม่สูญสลายไปกับชีวิตที่สูญเสียไปกับสงครามการเมืองในซีเรียที่ดำเนินการมานานนับสิบปี
วิษณุ โชลิตกุล