SCB EIC ชี้ธุรกิจโรงแรมปี 68 บูม ลุ้นนักท่องเที่ยวทะลัก 40 ล้านคน เงินเข้าไทย 2 ล้านลบ.
SCB EIC ชี้ธุรกิจโรงแรมปีนี้โตแกร่ง รับต่างชาติแห่เที่ยวไทยทะลุ 36 ล้านคน “จีน” มากสุด รองลงมา “มาเลเซีย” พร้อมลุ้นปี 68 นักท่องเที่ยวแตะ 40 ล้านคน โกยรายได้เข้าไทยราว 2 ล้านล้านบาท
ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่า เผยภาพรวมของธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มเติบโตได้ดีทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเติบโตของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย โดยในปี 2567 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 72%
ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยเติบโตสูงกว่าปี 2562 ราว 8% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยมาราว 36 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยราว 270 ล้านคน โดยในปี 2568 อัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเดินทางเข้ามาราว 39 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยที่เติบโตมาอยู่ที่ราว 276 ล้านคน
อย่างไรก็ดีธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปทานห้องพักที่จะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้อย่างภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพังงา รวมถึงเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยอย่างน่าน เชียงราย และจันทบุรี
การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ทำเลที่ตั้ง และความสามารถในการปรับตัว โดยธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ 1) กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตระดับบน และระดับลักชัวรี่ที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงอย่างเช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้น 2) กลุ่มโรงแรมที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างภูเก็ตและกรุงเทพฯ รวมถึงกลุ่มโรงแรมและที่พักที่ตั้งในเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และ 3) กลุ่มโรงแรมที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียและอิสราเอลที่มีโอกาสเดินทางมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม, กระแสการใส่ใจสุขภาพผ่านเทรนด์ Wellness tourism และการท่องเที่ยวแบบ Workation จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Digital nomad เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยกดดันสำคัญของการดำเนินธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต่างนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า เช่น การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การนำระบบอัจฉริยะมาใช้ การเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เข้าพักและ Suppliers ของโรงแรมมีส่วนร่วมในการก้าวสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย
สำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ด้วยรายได้หลักของธุรกิจมาจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากการให้บริการด้านที่พักอาศัย การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การจัดเลี้ยงและการประชุมสัมมนา รวมถึงการให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการสปาเพื่อสุขภาพ และการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งโรงแรมและที่พักที่ให้บริการของไทยมีหลายประเภทตั้งแต่โรงแรม 1 ดาวไปจนถึงระดับ 5 ดาว, รีสอร์ต, วิลล่า, เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์, โฮสเทล และโฮมสเตย์ อีกทั้ง การบริหารจัดการโรงแรมของผู้ประกอบการในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการและดำเนินการโรงแรมภายใต้แบรนด์ของตนเองแล้ว ผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งยังรับจ้างบริหารโรงแรมภายใต้สัญญาบริหารควบคู่ไปด้วย อีกทั้ง ผู้ประกอบการบางส่วนหันมาบริหารจัดการโรงแรมโดยการจ้างบริหาร/บริหารจัดการโรงแรมภายใต้สัญญาของแบรนด์โรงแรมชั้นนำเพื่อให้โรงแรมเป็นที่รู้จักและเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น
โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่รายได้หลักมาจากการให้บริการด้านที่พักอาศัย (ASIA, MANRIN, CENTEL, DUSIT, LRH, ERW, VRANDA, BEYOND, GRAND, OHTL, ROH, SHANG, MINT, SHR) 2) กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่รายได้หลักมาจากธุรกิจอื่น (SPA ซึ่งรายได้หลักมาจากธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและเวลเนส)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและต้องพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลักหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวด แม้ทุกประเทศในโลกจะประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว แต่การเดินทางระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากรัฐบาลจีนถือเป็นประเทศกลุ่มสุดท้ายที่ประกาศเปิดประเทศอนุญาตให้พลเมืองเดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงต้นปี 2566 ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศของจีนหลังประกาศเปิดประเทศเติบโตแบบชะลอตัวจากปัญหาฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงทำให้การเดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนไม่เร่งตัวสูงมากนักในช่วงแรกและส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ที่มีกำลังซื้อสูงมากกว่ากลุ่มกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่อย่างเช่นแต่ก่อน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 2566 ฟื้นตัวมาอยู่ที่ราว 28 ล้านคนจากที่เคยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562
ด้วยเหตุนี้ธุรกิจโรงแรมจึงต้องพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลักในระหว่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งภาครัฐเองได้ออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่องอย่างเช่นโครงการเราเที่ยวด้วยกันทั้ง 5 เฟสที่สามารถจูงใจให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้นจากตัวเลขผู้เยี่ยมเยือนไทยในปี 2566 ที่สูงกว่าปี 2562 ราว 9% มาอยู่ที่ 248 ล้านคน ส่งผลบวกให้ธุรกิจโรงแรมยังสามารถฟื้นตัวได้สะท้อนจากตัวเลขอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 69% ของอุปทานห้องพักทั้งหมดซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 70% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยยังฟื้นตัวอยู่ที่ราว 83% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากการทำโปรโมชันแพ็กเกจราคาที่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในช่วงการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม
ในปี2567ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาราว 36.2 ล้านคนและจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ราว 39.4 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 32 ล้านคน โดย 5 อันดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ซึ่งนักท่องเที่ยวจาก 5 ประเทศนี้เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่ถือสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งหมด
อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงโค้งสุดท้ายของปียังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวระยะไกลอย่างนักท่องเที่ยวยุโรป และรัสเซีย ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี2567มีโอกาสแตะ 36.2 ล้านคน สร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวราว 1.7 ล้านล้านบาท และในปี 2568 คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ราว 39.4 ล้านคนใกล้เคียงกับปี 2562 จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่มีแนวโน้มเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น และการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาติอื่นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลาง รัสเซีย อิสราเอล และอินเดียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่เติบโตสูง ซึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวได้ราว 2 ล้านล้านบาท
ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยคนไทยมีแนวโน้มสนใจเดินทางไปเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) มากขึ้นตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของภาครัฐทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีรวมถึงโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือหลังธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ในปี 2567 นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 270.2 ล้านคน และในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยที่ 2% เทียบช่วงเดียวกันอของปีก่อนมาอยู่ที่ 275.6 ล้านคน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ ความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจในประเทศซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการฟรีวีซ่าและแพ็กเกจเที่ยวต่างประเทศราคาประหยัดที่ออกมาดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง
การกลับมาใกล้ภาวะปกติของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศและราคาห้องพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวก้าวสู่การเติบโต ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตได้ดีทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเติบโตของนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 72% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยเติบโตสูงกว่าปี 2562 ราว 8% และ 31% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับราคาขึ้นของผู้ประกอบการโรงแรมตามต้นทุนการบริหารจัดการที่สูงขึ้นและการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพสูงตามความต้องการของผู้เข้าพัก
ในปี 2568 อัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากสถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยที่กลับสู่ภาวะปกติ โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 74% และราคาห้องพักเฉลี่ยปรับสูงขึ้นราว 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดีธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปทานห้องพักที่จะทยอยเปิดให้บริการสะท้อนได้จากตัวเลขการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อการโรงแรมในช่วงปี 2564-2566 กว่า 5,600 อาคารทั่วประเทศและส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้อย่างภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพังงา รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในเมืองน่าเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยอย่างน่าน เชียงราย และจันทบุรี อีกทั้ง ตัวเลขการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อการโรงแรมทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม2567ยังเพิ่มสูงถึงกว่า 1,200 อาคารหรือเพิ่มขึ้นกว่า 38% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง และอาจเข้าสู่ภาวะอุปทานห้องพักส่วนเกินในบางพื้นที่ ซึ่งจะกดดันการเติบโตของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีโอกาสหันมาใช้กลยุทธ์ด้านราคามากขึ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและจะกระทบต่อการเติบโตของราคาห้องพักเฉลี่ยตามไปด้วย
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้าใกล้ภาวะปกติแล้ว แต่การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในแต่ละแห่งนั้นไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ทำเลที่ตั้ง และความสามารถในการปรับตัว
ธุรกิจโรงแรมในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 แต่ธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ค่อนข้างเร็วและก้าวเข้าสู่ช่วงของการเติบโตแล้ว ได้แก่
1) กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตระดับบน (Upscale/Upper Upscale) และระดับลักชัวรี่ (Luxury) เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นกลุ่มแรกหลังการเปิดประเทศคือกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง อีกทั้ง โรงแรมและรีสอร์ตในกลุ่มนี้ยังได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่มีการเติบโตสูงอย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางที่ใช้จ่ายในระหว่างท่องเที่ยวสูงอีกด้วย
2) กลุ่มโรงแรมที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างภูเก็ตและกรุงเทพฯ ที่รายได้ของธุรกิจโรงแรมโดยรวมสูงกว่าปี 2562 แล้ว รวมถึงกลุ่มโรงแรมและที่พักที่ตั้งในเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนเมืองน่าเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเกิน 1 ล้านคนในช่วงมกราคม-ตุลาคม2567เพิ่มขึ้นเป็น 33 จังหวัดจาก 27 จังหวัดในปี 2562 โดยเมืองน่าเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทย ได้แก่ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และเชียงราย
3) กลุ่มโรงแรมที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อและเมกะเทรนด์ต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น นักท่องเที่ยวรัสเซียและอิสราเอลมีโอกาสเดินทางมาไทยมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงครามและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์, Wellness tourism จากกระแสการใส่ใจสุขภาพและการเติบโตของสังคมสูงวัย, Workation จากการขยายตัวของ Gig economy และการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Digital nomad เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐในหลายประเทศที่หันมาใช้นโยบายฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายสำคัญที่มีกำลังซื้อสูงไม่ว่าจะเป็นในฝั่งเอเชียอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย รวมถึงฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจึงต้องโปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเป็นกระแสและยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยกดดันสำคัญของการดำเนินธุรกิจโรงแรมในปัจจุบันเนื่องจากนักท่องเที่ยวยุคใหม่ใส่ใจด้านความยั่งยืนมากขึ้น อีกทั้ง ธุรกิจโรงแรมชั้นนำของโลกต่างออกมาตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero target) ภายในปี 2050 โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจโรงแรมราว 40% เกิดจากการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก (Scope 2) ซึ่งธุรกิจโรงแรมหลายแห่งทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้นเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การนำระบบอัจฉริยะมาใช้ และการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาดอย่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ซึ่งแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังรวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เข้าพักและ Suppliers ของโรงแรมมีส่วนร่วมในการก้าวสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย