“กิตติรัตน์” ย้ำจุดยืนหนุน “ลดดอกเบี้ย” เร็ว-แรง พร้อมชี้ “ทุนสำรองฯ” มีมากเกินไม่ดี
“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ยันจุดยืนหนุน “ลดดอกเบี้ย” เร็ว-แรง พร้อมชี้ “ทุนสำรองฯ” มีมากเกินไม่ดี แนะปรับขึ้น VAT ทีละน้อย ยังไม่รู้ใช้เวลานานแค่ไหนจะได้นั่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ธ.ค.67) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีต ตนเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำมาต่อเนื่องเป็นเวลาเต็มทศวรรษ ถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่คนจบใหม่ไม่มีงานทำ คนที่มีงานอยู่แล้วก็เสี่ยงสูญเสียงาน ค่าครองชีพสูงขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเป็นปัญหาพัวพันและดึงเศรษฐกิจให้ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้นถ้าต้องการผลลัพธ์ใหม่ก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องไปคาดหวังจากนโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินเท่านั้น แต่จำเป็นต้องทำเรื่องต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมแทบจะทุก ๆ แง่มุม อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ต้องมีการระดมสมอง ระดับประเทศ ระดับนโยบาย และผู้ประกอบการ ทุก ๆ ฝ่ายต้องช่วยกันคิด
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างในภาคเกษตร ผลผลิตต่อไร่ของข้าวเปลือกยังอยู่ที่เดิมเมื่อ 25-30 ปีที่แล้ว แต่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม เพิ่มขึ้นไปถึงเกือบเท่าตัว รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งทุก ๆ ฝ่ายที่กำลังเกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจ เกี่ยงกันไม่ได้แล้วหรือมาโทษกันไม่ได้แล้ว
ส่วนกรณี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% นั้น นายกิตติรัตน์ เห็นว่า ต้องเคารพการตัดสินใจของกรรมการที่มีมติเอกฉันท์ถึง 7 เสียง ตนอยากเห็นคำอธิบายถึงการตัดสินใจดังกล่าวอย่างละเอียดลออมากขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ละเอียดจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ เชื่อว่าควรจะลดลงกว่านี้ได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเพื่อการเกษตร ดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นภาระที่เบาลงสำหรับผู้ที่มีหนี้ และหวังว่าดอกเบี้ยที่ลดลงจะนำไปสู่การชำระเงินต้นได้ดีขึ้น หนี้เสีย หรือ NPL ก็จะไม่ลุกลามไป
ก่อนการให้สัมภาษณ์ นายกิตติรัตน์ ได้ร่วมเวทีเสวนา ครั้งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอน “50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย” ภายในห้องสมุดมารวย อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 9
โดยนายกิตติรัตน์ กล่าวย้ำจุดยืนของตนเอง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.66 ซึ่งได้เคยแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็วและมาก คือ หนทางป้องกันความหายนะ ความเชื่อในเรื่องนั้นยังคงเป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง หลังเป็นคนที่ถูกเสนอชื่อให้ไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่วันนั้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้ลดเร็วและลดแรงแต่อย่างใด
“คำอธิบายที่บอกว่าเครื่องมือที่ดีต้องเก็บไว้ใช้ในอนาคต นั่นเป็นการเขียนด้วยภาษาสละสลวยแบบนักเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าจะเขียนด้วยภาษาชาวบ้านประชาชนทั่วไป คือ ขอให้เห็นใจเถิด เราเคยมียาอยู่ 8 เม็ดเพื่อรักษาโรคที่เราเป็นอยู่ เรากินไปแล้วเม็ดนึง เหลือ 7 เม็ด ถ้ารีบกินตอนนี้จะเหลือ 6 เม็ด ไม่รีบกินได้ไหมเก็บไว้ก่อน… กับอีกแนวทางหนึ่งก็กินอีกสักเม็ด เป็นเรื่องที่ทำได้เหมือนกัน แต่ในเมื่อคณะแพทย์บอกว่าอย่าเพิ่งกินก็เคารพตรงนั้น ซึ่งถ้าเหลือยา 2 เม็ดแล้วยังไม่กินตนจะเข้าใจได้มากกว่านี้” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ชี้ทุนสำรองฯ มากเกินพอดี ต้องทบทวน
ตอนหนึ่ง นายกิตติรัตน์ ได้ถามผู้ร่วมฟังเสวนาว่า อะไรคือปัญหา และได้เฉลยคำตอบว่า “สิ่งใดที่ก็ตามที่กำลังเป็นอยู่และมันแตกต่างจากสิ่งที่ควรเป็น ความแตกต่างนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าปัญหา”
จากนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขอโยงมาเรื่องเศรษฐกิจ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในปี 2540 ควรจะมีไม่น้อยกว่าปริมาณการนำเข้า 6 เดือน แต่ด้วยเหตุหลายประการ เช่น ขาดดุลการค้า ทำให้ประเทศมีเงินทุนสำรองฯ น้อย จึงเป็นปัญหาคืออัตราดอกเบี้ยจะสูง เพราะว่าสภาพคล่องในประเทศก็ขาดแคลน จากนั้นก็เริ่มสะสม ๆ หลังจากปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทอ่อนช่วยรักษาชีวิตประเทศไทยไว้ ตั้งแต่ปี 2541-2543 เงินบาทอ่อนค่าและส่งออกเก่ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้น ๆ จนพอดี และเพิ่มจนเกินพอดี
“นาทีนี้เกินพอดีไปมาก เมื่อเกินพอดีไปมากเป็นปัญหานะ ไม่ใช่ว่าดี เพราะมันเกินพอดีแล้ว การแก้ไม่ให้เกินพอดีก็มีวิธี ดังนั้นเป็นข้อฝากว่าหากเราไม่ทบทวนหลักคิดให้แม่นแล้วเราก็เดินชนกับปัญหาไปในแต่ละวัน แต่ละครั้ง เราสับสนได้นะ ฉะนั้นผมคิดว่านอกจากทำให้เป็นไปตามคาดหวังแล้ว มองเห็นปัญหาเสียก่อนที่ปัญหานั้นจะสร้างความเสียหายรุนแรง ซึ่งผมคิดว่าในยุคสมัยนี้ อย่ารอให้มันเป็นผลลัพธ์ของปัญหารุนแรงเลย เราเห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหา เพราะสิ่งที่มันเป็นหลายประการมันต่างจากสิ่งที่ควรเป็น” นายกิตติรัตน์ กล่าว
พร้อมนั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ยันทำหน้าที่ให้ดี-มีธรรมาภิบาล
สำหรับกรณีที่มีข่าวได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หากได้เป็นจริงแล้วจะทำอะไร นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เราต้องทำสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความคาดหวังอันเป็นธรรมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึงผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยในอดีต ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางบวกและทางลบจากนโยบาย ดังนั้นถ้าถามว่า ได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้วจะทำอะไร ตนไม่แน่ใจว่าเวลาการพิจารณาจะเนินนานแค่ไหน ถ้าถึงเวลาตอนนั้นสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ต้องทำให้ดีและมีธรรมาภิบาล มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส คำนึงถึงความเสี่ยงและใส่ใจอธิบายในสิ่งที่ควรจะต้องทำ รวมทั้งจะเป็นคนเชื่อมระดับนโยบายและฝ่ายบริหาร
“คนที่กังวลว่าถ้าผมได้ถูกมอบหมายหน้าที่นั้น แล้วผมจะไปแทรกแซงหน่วยงานทางด้านนโยบายการเงิน คำถามคือว่าความสามารถในการแทรกแซงผมมันมีมากกว่านั้นนะ คือผมแทรกแซงฝั่งนโยบายการคลังก็พอได้ด้วยนะ แต่แทรกแซงทางความคิด เพราะทั้งสองนั้น ผมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มันไม่ใช่มีอำนาจไปสั่งการอะไรคณะกรรมการสำคัญ 3 คณะ รวมทั้งผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ เลย เพราะฉะนั้นถ้าแทรกแซงก็เป็นการแทรกแซงทางความคิดว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ใช่ไหม… เรามาดูตรงนี้กันหน่อยได้ไหม เช่นเดียวกัน การที่จะมาเป็นผู้ถูกเสนอชื่อต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและต้องไม่เป็นกรรมการหรือมีตำแหน่งใดในพรรคการเมือง แล้วจะไปแทรกแซงฝั่งรัฐบาลได้อย่างไร มีอย่างเดียวคือ ขอกราบเรียนเสนอความคิด ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นก็ไม่ได้เป็น…” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ปรับ VAT 15% แนะขึ้นภาษีครั้งละน้อย ๆ
ส่วนการปฏิรูปภาษี นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ภาษีเป็นทั้งแหล่งรายได้ของรัฐ เป็นภาระของผู้จ่าย และเป็นกลไกในการปรับแต่งพฤติกรรมของผู้จ่าย ดังนั้นการจะทบทวนโครงสร้างภาษีอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เวลาจะคิดเรื่องภาษีจะเป็นความลับ จนกระทั่งมั่นใจจึงประกาศ เช่น ในยุคที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้ปรับภาษีสรรพสามิต บุหรี่และสุรา 2 ครั้ง ซึ่งต้องดูให้รอบคอบ ตนได้บอกอธิบดีว่าอย่ามาที่กระทรวงและตนปลอมตัวไปประชุมที่กรมฯ ในวันอาทิตย์หลายครั้ง เพราะถ้ารู้ก่อนว่าปรับภาษี จะมีการตุนสินค้าเก็งกำไร พอมั่นใจก็ประกาศออกมาเลยโดยใช้มติครม. ดังนั้นควรดูให้รอบคอบว่าภาษีใดควรปรับเท่าไหร่จึงประกาศ
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงกระแสปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% ว่า ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ จริง ๆ ประเทศไทยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 10% แต่ลด 7% หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ทุกปีจึงมีข่าวว่าจะปล่อยให้กลับไปที่ 10% คำว่า 15% เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นตน จะไม่ปรับครั้งเดียว 3% แต่จะใช้วิธีปรับทีละน้อย ๆ เช่น ครั้งละ 1% และสื่อสารให้ประชาชนทราบว่าที่ปรับขึ้น VAT จะทำให้มีเงินเท่าไหร่ และจะนำไปใช้ทำอะไรก็จะเป็นเรื่องที่ดี