“สนค.” เปิดเว็บไซต์ “คิดค้า.com” รวมข้อมูลการค้า หนุนครัวไทยสู่ตลาดโลก

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. เผยบริการถอดรหัสอาหารแห่งอนาคต บนเว็บไซต์ "คิดค้า.com" แหล่งรวมข้อมูลการค้า หนุนผู้ประกอบการส่งออกสู่ตลาดสากล


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (20 ธ.ค. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ร่วมกันพัฒนาและจัดทำบริการข้อมูลการค้าสินค้าอาหารแห่งอนาคต ในรูปแบบ “คิดค้า Briefing” ย่อยข้อมูลการค้าเชิงลึกรูปแบบการเล่าเรื่อง (Data Storytelling) หัวข้อ “ถอดรหัสอาหารแห่งอนาคต”

โดยนำเสนอข้อมูลการค้าสินอาหารอนาคตในภาพรวม และ 4 กลุ่มสินค้าย่อย ได้แก่ 1.อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน 2.อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 3.โปรตีนทางเลือก และ 4.ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง

ทั้งนี้ เป็นการเน้นให้ข้อมูลปริมาณ และมูลค่าการค้า อัตราการเติบโต และตลาดสำคัญของสินค้าแต่ละกลุ่ม นำเสนอข้อมูลแบบเข้าใจง่ายและใช้งานสะดวก โดยเปิดตัวให้บริการแล้วบนเว็บไซต์ คิดค้า.com

นายพูนพงษ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มว่า ข้อมูลภาพรวมการค้าสินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทย จากแดชบอร์ดอาหารแห่งอนาคต พบว่า 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 3,794.39 ล้านเหรียญสหรัฐ (134,253 ล้านบาท) ขยายตัว 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 9.7% ของการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน มีสัดส่วนถึง 90.8% ของการส่งออกสินค้าอาหารอนาคตทั้งหมดของไทย

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าอาหารอนาคตที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 15.0%) จีน (10.7%) เวียดนาม (9.9%) กัมพูชา (7.5%) และเมียนมา (6.8%) ตามลำดับ การนำเข้า มีมูลค่า 1,811.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (64,853.49 ล้านบาท) ขยายตัว 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (สัดส่วน 39.6%) จีน (10.9%) สหรัฐฯ (10.1%) อินโดนีเซีย (6.0%) และญี่ปุ่น (3.7%) หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าย่อย 4 กลุ่ม พบว่า

1.กลุ่มอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน การส่งออก มีมูลค่า 3,446.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (121,930.96 ล้านบาท) ขยายตัว 12.0% โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญในกลุ่มนี้ อาทิ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส น้ำดื่มผสมวิตามิน และน้ำผลไม้ เป็นต้น

ขณะที่ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ (สัดส่วน 15.9%) จีน (11.1%) และเวียดนาม (10.8%) การนำเข้า มีมูลค่า 1,740.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (62,300.90 ล้านบาท) ขยายตัว 12.3% ส่วนใหญ่นำเข้าจากสิงคโปร์ สัดส่วน 40.4% ของการนำเข้าทั้งหมด

2.กลุ่มอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล การส่งออกมีมูลค่า 164.22 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,817.82 ล้านบาท) ขยายตัว 4.0% มากกว่าครึ่งเป็นการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย (สัดส่วน 32.7%) สปป.ลาว (14.8%) เมียนมา (13.5%) และกัมพูชา (9.1%) การนำเข้า มีมูลค่า 45.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,636.68 ล้านบาท) ขยายตัว 11.1% แหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ สิงคโปร์ (สัดส่วน 32.4%) นิวซีแลนด์ (12.9%) และเยอรมนี (10.1%)

3.โปรตีนทางเลือก การส่งออกมีมูลค่า 147.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,202.36 ล้านบาท) หดตัว 8.0% ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ เมียนมา (สัดส่วน 23.0%) กัมพูชา (17.0%) จีน (13.1%) สปป.ลาว (10.9%) และฟิลิปปินส์ (7.1%) การนำเข้า มีมูลค่า 25.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (911.72 ล้านบาท) ขยายตัว 1.8% เป็นการนำเข้าจากจีนประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมด

4.ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง การส่งออกมีมูลค่า 36.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,302.75 ล้านบาท) หดตัว 29.9% เกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกเป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ (สัดส่วน 45.8%) โดยมีข้าวเจ้าขาวหอมมะลิอินทรีย์ และกะทิสำเร็จรูป เป็นสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ การนำเข้า มีมูลค่า 118,646.04 เหรียญสหรัฐ (4.19 ล้านบาท) หดตัว 33.9% ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย และอินโดนีเซียเป็นหลัก สัดส่วน 59.3% และ 34.6% ตามลำดับ

“อาหารอนาคต เป็นสินค้าดาวรุ่ง ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานของไทย และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพ” นายพูนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ การให้บริการข้อมูลการค้าสินค้าอาหารอนาคต “คิดค้า Briefing” หัวข้อ “ถอดรหัสอาหารแห่งอนาคต” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศ และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์การค้า ตามนโยบาย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ที่เน้นการทำงานเชิงรุก และสนับสนุนธุรกิจและสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงเป็นการขานรับกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล และการผลักดันให้ไทยเป็นคลังอาหาร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความมั่นคงทางอาหารโลก

Back to top button