กระทรวงดีอี กวาดล้างภัยออนไลน์ ปิดเว็บพนันนับหมื่น ปราบซิมผี-บัญชีม้า

รองนายกฯ “ประเสริฐ” เผย กระทรวงดีอี จับมือหลายหน่วยงาน กวาดล้างภัยออนไลน์ ปิดเว็บพนันนับหมื่น พร้อมปราบซิมผี-บัญชีม้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67

โดย นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  8 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ เดือน พ.ย.67 ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท เดือน พ.ย.67 จำนวน 3,669 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.67 จำนวน 2,256 ราย คดีเว็บพนันออนไลน์ เดือน พ.ย.67 จับกุมจำนวน 13,810 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.67 จำนวน 793 ราย คดีซิมม้า บัญชีม้า เดือน พ.ย.67 จับกุมจำนวน 2,476 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.67 จำนวน 180 ราย

ขณะที่ ปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน กระทรวงดีอี ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 – 30 พ.ย.67 ปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 8,129 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ 697 (URLs) ประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้น เกี่ยวกับเนื้อหาผิดกฎหมายและหลอกลวงออนไลน์ โดยมีคำสั่งศาล จำนวน 2,039 (URLs) ไม่มีคำสั่งศาล จำนวน 8,401 (URLs) นอกจากนี้ประสานแพลตฟอร์มเพื่อปิดกั้นของหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ อาทิ บช.สอท. จำนวน 26 (URLs) และ ก.ล.ต. จำนวน 1,944 (URLs)

แก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงินผลการดำเนินงานที่สำคัญถึงวันที่ 30 พ.ย.67 โดยศูนย์ AOC ระงับบัญชีภายใน 7 วัน จำนวน 265,844 บัญชี ธนาคารระงับบัญชีม้าเทาอ่อนจำนวน 229,432 บัญชี และล็อคบัญชีม้าน้ำตาล จำนวน 456,824 บัญชี รวมแล้วกว่า 952,100 บัญชี ทั้งนี้ ปปง. ทำการอายัดบัญชี ณ วันที่ 12 ธ.ค.67 ไปแล้วกว่า 630,537 บัญชี

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า แก้ไขปัญหาซิมม้าและซิมม้าที่ผูกกับ Mobile banking ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ถึงวันที่ 30 พ.ย.67 ได้กวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.7 ล้านเลขหมาย โดย ณ วันที่ 16 ธ.ค.67 ระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 132,933 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 132,515 เลขหมาย

และได้หารือกำหนดมาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking โดยตรวจสอบข้อมูล Cleansing Mobile Banking จำนวน 120.3 ล้านบัญชี เพื่อออกเป็นมาตรการต่อไป โดยแบ่งกลุ่มผู้ใช้งาน Mobile Banking ที่ต้องทำการตรวจสอบ ประมาณ 43 ล้านบัญชี เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ลูกค้าที่มีสัญชาติไทยที่ให้บริการโทรคมนาคม แจ้งเป็น M ( ชื่อจดทะเบียนเบอร์โทรไม่ตรงกับบัญชีธนาคาร) ซึ่งเปิดบัญชีตั้งแต่เดือน ม.ค.65,

กลุ่มที่ 2 ลูกค้าต่างชาติที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แจ้งเป็น N ซึ่งเปิดบัญชีตั้งแต่เดือน ม.ค.65

กลุ่มที่ 3 ลูกค้าของธนาคารที่ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แจ้งเป็น P (ไม่พบข้อมูลเบอร์โทร) ซึ่งเปิดบัญชีตั้งแต่เดือน ม.ค.

ส่วนการส่งข้อความชักชวนหลอกลวง (Sender Name) กรณีของการดำเนินการมาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงก์สำหรับบริการส่งข้อความสั้นแบบ Application to Person (A2P) กำหนดให้ Sender Name ที่ประสงค์จะส่ง SMS แนบลิงก์ต้องดำเนินการ ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด และจะต้องยืนยันการลงทะเบียนเพื่อต่ออายุทุก ๆ 1 ปี โดยการส่ง SMS แนบลิงก์ทุกครั้ง ผู้ส่งต้องระบุข้อความและลิงก์ก่อนส่ง SMS เป็นตัวอย่าง โดยให้ สกมช. ตรวจความปลอดภัยของข้อมูล และให้ส่งสำเนาไปเก็บที่สำนักงาน กสทช. ก่อนส่ง SMS ทั้งนี้ การส่ง SMS แนบลิงก์นั้น ต้องเป็นการส่งจาก Platform ไปยังหน้าของ Platform เท่านั้น จะลิงก์ไปยังอีก Platform ไม่ได้

นอกจากนี้ การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน สำนักงาน กสทช. แจ้งรื้อถอนเสาสัญญาณ ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงราย, ตาก, สระแก้ว, จันทบุรี, ระนอง, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวม 393 สถานี คิดเป็น 100 %

ดำเนินยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ในห้วงเดือน ต.ค. 67 – พ.ย. 67 พบการลอบลากสายนำสัญญาณใยแก้วฯ ข้ามแดนเพื่อกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณสะพานมิตรภาพไทย -ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) จ.หนองคาย จำนวน 28 เส้น พร้อมทำการรื้อถอน

ด้าน ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก พบขบวนการลักลอบตั้งฐาน รับ-ส่งสัญญาณแบบจุดต่อจุด เพื่อส่งสัญญาณเน็ตข้ามประเทศ หลายจุดตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ และ พบการลักลอบพาดสายสัญญาณความเร็วสูงขนาดใหญ่ ข้ามสะพานมิตรภาพไทย -เมียนมาร์ แห่งที่ 1 (อ.แม่สอด) จำนวน 16 เส้น

สำหรับมาตรการการป้องกันการโทรหลอกลวง ภายใต้โครงการ DE-fence platform ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 เห็นชอบหลักการของมาตการป้องกันการโทรหลอกลวง โดยให้จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform”  ขณะนี้ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง DE-fence ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเร่งดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ คาดว่า แพลตฟอร์ม DE-fence จะสามารถทดลองและเริ่มให้บริการได้ในช่วงเดือน ก.พ.68

ด้านบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงาน ดังต่อไปนี้

– เชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และ สำนักงาน ปปง. เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการจดทะเบียนนิติบุคคล กรณีข้อมูลของบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า

– เชื่อมโยงข้อมูลกับ ระบบ Thai Police Online (TPO) ร่วมกับ บช.สอท. และ NT เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินจากบัญชีม้าแถวหนึ่งจนถึงแถวสุดท้าย อาทิ ชื่อบัญชี เลขบัญชี ข้อมูลคริปโทเคอร์เรนซี Wallet ID  โดย TPO จะรายงานข้อมูลเกี่ยวกับคดีกลับมายังศูนย์ฯ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามสถานะและปัญหาในการดำเนินการในแต่ละคดี เพื่อพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือออกเป็นมาตรกา รเพื่อให้สามารถมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

– บูรณาการข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการบูรณาการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศบอท.) และ กสทช. เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงรหัส HR-03 (บัญชีม้า) ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และ สำนักงาน ปปง.

นายประเสริฐ กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนนิติบุคคลว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีนิติบุคคลผู้ขอจดทะเบียนมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง รหัส HR-03 (บัญชีม้า) ของสำนักงาน ปปง. ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

– ระยะที่ 1 ดำเนินการทันที ตรวจสอบกับฐานข้อมูลของนิติบุคคล หากพบว่านิติบุคคลใดมีผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ หรือ ผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลในบัญชี HR-03 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแจ้งข้อมูลให้กับศูนย์ AOC 1441 เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

– ระยะที่ 2 ดำเนินการเมื่อระบบเชื่อมโยงข้อมูล HR-03 พร้อมใช้งาน (1 ม.ค. 68) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชื่อมโยงข้อมูล HR-03 จากศูนย์ AOC 1441 เพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลว่ามีรายชื่อในข้อมูล HR-03 หรือไม่ หากตรวจพบจะชะลอการจดทะเบียนไว้ก่อน และเรียกให้บุคคลดังกล่าวมาแสดงตัวเพื่อยืนยันความมีตัวตน

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมมาตรการในการตรวจสอบบัญชีม้า สาขาธนาคารที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งการบูรณาการข้อมูลบุคคลที่มีรายชื่อในบัญชีม้า เพื่อตรวจสอบการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย

Back to top button