“ประเสริฐ” ลุยแก้ภัยแล้งอีสาน สั่งเข้ม! ทุกหน่วยงานพร้อมช่วยประชาชนสู้วิกฤตขาดแคลนน้ำ
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง" ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง 4 จังหวัดอีสาน กำชับเร่งจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก พร้อมเน้นรณรงค์ใช้น้ำประหยัดและช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เชื่อมั่นมาตรการช่วยประชาชนผ่านฤดูแล้งได้แน่นอน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
อีกทั้งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เริ่มต้นจากการประชุมหารือข้อเสนอโครงการแก้ปัญหาสำคัญ ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าร่วม จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการจัดการน้ำที่ สระเก็บน้ำวัดพระพุทธบาทเขาพริก อำเภอสีคิ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่กำลังเผชิญปัญหาน้ำต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานของ สทนช. พบว่า ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำหลักของทั้ง 4 จังหวัดอยู่ในระดับต่ำ เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 26% ของความจุ รองนายกรัฐมนตรีจึงกำชับให้กรมชลประทานเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด โดยวางแผนการจัดสรรน้ำสำหรับฤดูแล้งปี 2567/68 แบ่งการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอจนถึงต้นฤดูฝน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ขอให้สนับสนุนเครื่องจักรและเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมทรัพยากรน้ำจัดหาอุปกรณ์สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค , ส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัด และรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง พร้อมส่งเสริมพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมถึงการเพิ่มแหล่งน้ำสำรองด้วยการสูบน้ำจากลำน้ำธรรมชาติเก็บไว้ในแหล่งน้ำสำรอง เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดย สทนช. จะติดตามความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว
สำหรับการดำเนินการครั้งนี้คาดว่าจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง และคลายความกังวลของเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ.