ว่าด้วยเรื่องธรรมาภิบาลบริษัท 2 เจ้าสัว (1)

ช่วงที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ได้ประสบปัญหาเรื่อง Trust and Confidence ที่บ่งบอกถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติตนของผู้นำองค์กร


ช่วงที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ได้ประสบปัญหาเรื่อง Trust and Confidence ที่บ่งบอกถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติตนของผู้นำองค์กรที่ได้นำพาบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทไปสู่หนทางที่มีข้อกังขาเรื่องของธรรมาภิบาลที่ดี (Corporate Governance)

ประเด็นความร้อนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดมุมมองที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ต่อสังคมวงกว้าง

จนเกิดภาพที่ปรากฏออกมาที่ราคาหุ้น ที่สะท้อนออกมาเป็นแรงเทขายที่มาจาก กองทุนไทย, กองทุนต่างประเทศ และผู้ลงทุนรายย่อย

แรงเทขายหุ้นที่มีเข้ามาอย่างมหาศาล ได้บ่งบอก ถึงความไม่พอใจ ที่ได้มีการกระทำที่ขัดต่อความมีธรรมาภิบาลที่ดี แบบใช้อภิสิทธิ์ชน ชนิดที่ชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถกระทำได้

ในอีกนัยหนึ่งของแรงเทขายหุ้นเหล่านี้ ได้สะท้อนความรู้สึกของผู้ลงทุน ว่า “ขาดที่พึ่ง” และมีความรู้สึกว่า แม้จะมีตัวบทกฎหมายที่สามารถบังคับใช้อยู่ แต่มันก็อาจจะเป็นได้แค่เพียงตัวอักษร ที่ระบุไว้โชว์อยู่ในพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535

“การตัดใจขายหุ้นทิ้งก่อน จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด” เพราะไม่เชื่อว่า จะมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้ถือหุ้น

ในกรณีที่ไม่ห่างไกลกันนี้จะขอหยิบยกตัวอย่างของกลุ่มบริษัทที่มีความเกี่ยวโยงกับตลาดทุนที่มีหลักของธรรมาภิบาลที่ดี (เฉพาะเคสนี้) เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างที่ชัดเจนจากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เริ่มจากกลุ่มเซ็นทรัล (Central) ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ได้เข้าไปลงทุนในห้างสรรพสินค้าระดับลักซ์ชัวรี่ในยุโรป อย่างห้างเซลฟริดเจส (Selfridges) ในประเทศอังกฤษ กับห้างคาเดเว (KaDeWe) ในประเทศเยอรมนี ในช่วงปลายปี 2564

โดยก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของทั้งสองห้างอย่าง Signa Group ได้ยื่นขอล้มละลายไป

ทำให้ในช่วงนั้น ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีการคาดกการณ์ และเกิดความกังวลว่ากลุ่ม Central อาจจะนำบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิเช่น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

หรือแม้แต่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เข้าไปอุ้มซื้อกิจการในส่วนครึ่งหนึ่งที่ Signa Group ถืออยู่และล้มละลายไปแล้ว

หากยังจำได้ เหตุการณ์นี้ช่วงปลายปี 2564 จนถึงกลางปี 2565 ราคาหุ้น CRC, CPN มีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง จากข่าวลือดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่

เนื่องจากกลุ่ม Central กลับเลือกใช้บริษัทส่วนตัวคือ Central Holding ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้เข้าไปแบกรับภาระในการซื้อกิจการที่มีความเสี่ยงแทนเองทั้งหมด พร้อมหาพันธมิตรเพิ่มเติม

โดยหลีกเลี่ยงที่จะเอาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาแบกรับความเสี่ยงนี้ไป  หรือ สรรหาเหตุผลต่าง ๆ นานา มาสาธยาย โชว์ช่องทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นต้องพลอยรับความเสี่ยงไปด้วย แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีของกลุ่ม Central โดยเลือกที่จะไม่สร้างความเสี่ยงให้กับบริษัทจดทะเบียน รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อย นับว่าเป็นการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนรวมเป็นสำคัญ..

(อ่านต่อตอนที่ 2)

อึ้งย้ง

Back to top button