CFP 7 ปี 4 ซีอีโอ.!
จากความคลุม ๆ เครือ ๆ ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP จะไปต่อหรือพอแค่นี้..??
จากความคลุม ๆ เครือ ๆ ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP จะไปต่อหรือพอแค่นี้..?? จะขยับหรือเลื่อนไปเปิดเมื่อไหร่..?? หลังจากเกิดกรณีผู้รับเหมาหลัก หรือกลุ่มบริษัท UJV (บริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte. Ltd.) ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับเหมาช่วงกว่า 20 บริษัท เป็นเหตุให้โครงการเดินหน้าต่อไม่ได้…
ล่าสุดมีความชัดเจนแล้ว เมื่อบอร์ดไทยออยล์ในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 มีมติให้เพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP จำนวน 63,028 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 80,950 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโครงการนี้ถอยไม่ได้…ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น..!!
ด้วยเงื่อนไขที่โครงการ CFP เป็นหนึ่งในโครงการชี้เป็นชี้ตายของ TOP โดยจะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นเกือบเท่าตัว จากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด (Economy of Scale) แถมเป็นแต้มต่อในการแข่งขันและอื่น ๆ อีกมากมาย เชื่อว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 ก.พ. 2568 ผู้ถือหุ้น TOP คงยกมือโหวตเสียมิได้แหง ๆ..??
แต่ถ้าดูโครงการนี้ ผ่านมา 7 ปี มี CEO 4 คนด้วยกัน…เริ่มที่ CEO คนแรก ชื่อ “อธิคม เติบศิริ” โดยช่วงปี 2561 ได้มีการลงนามสัญญาสำหรับการออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (สัญญา EPC) กับผู้รับเหมาหลัก
ถัดมาช่วงปี 2562 เป็นยุคของ CEO คนที่ 2 ที่ชื่อ “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ได้ลงเสาเข็มมีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการ CFP ช่วงเช้าของวันที่ 5 มี.ค. 2563 โดยมี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
ขณะที่การมาของวิกฤตโควิดทำให้การดำเนินการก่อสร้างโครงการชะงักไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในช่วงปี 2565 บอร์ดไทยออยล์ได้มีมติอนุมัติงบเพิ่มเติมอีกประมาณ 18,165 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 24 เดือน เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ
พอผ่านพ้นช่วงปลายโควิด หรือช่วงปลายปี 2565 ก็มี CEO อีกคนมารับไม้ต่อ นั่นคือ “นพดล ปิ่นสุภา” ซึ่งมาขัดตาทัพช่วงสั้น ๆ นั่งรักษาการ CEO…
กระทั่งต้นปี 2566 TOP มี CEO ใหม่ที่ชื่อ “บัณฑิต ธรรมประจำจิต”…ต่อมาช่วงกลางปี 2567 ก็เกิดปัญหาผู้รับเหมาหลัก UJV ไม่จ่ายค่าจ้างผู้รับเหมาช่วงกว่า 20 บริษัท เกิดการประท้วงหยุดงานและฟ้องร้องกัน ทำให้โครงการ CFP สะดุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเชิงราคาหุ้นก็กระทบหนักหน่วง…โดยรอบ 3 เดือน ราคาทรุดไปแล้ว 46.31% รอบ 1 เดือน ราคาทรุดไป 32.30% และรอบ 1 สัปดาห์ ราคาทรุดไป 24.83% ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. 2567 ราคาทรุดลงไปอีก 22.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 3,231.01 ล้านบาท
ว่าไปแล้วปมปัญหาของโครงการ CFP ไม่ได้เกิดจากตัว TOP นะออเจ้า…เนื่องจากที่ผ่านมา TOP ได้จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาหลักไปเกือบครบแล้ว แถมยังใจดีจ่ายเพิ่มให้อีกก้อนอีกต่างหาก…ขณะที่ต้นตอปัญหาเกิดจาก UJV ชัดเจน ซึ่งต้องย้อนไปดูยุคแรกในการคัดเลือกผู้รับเหมาหลักมีเงื่อนไขอะไรดลใจหรือเปล่า..?? ถึงเลือก UJV…
คนที่ตอบได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น “อธิคม” ซึ่งเป็นคนที่จรดปลายปากกาเซ็นสัญญากับ UJV นั่นแหละ…
ขณะที่ปัจจุบันโครงการนี้ต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งอยู่ในมือของ “บัณฑิต” ที่ต้องมาตามล้างตามเช็ด…แน่นอนไทม์ไลน์ชัดเจนว่าเลื่อนแบบมีกำหนดไปอีก 4 ปี หรือกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2571…
ก็น่าสนใจว่าระหว่างทางจะซ่อมสร้างความเสียหายของผู้ถือหุ้น TOP ในรูปแบบใด..??
คงต้องเร่งมือหน่อยนะ…อย่าปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรอนาน…
เดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ…ยุ่งตายห่า..!?
…อิ อิ อิ…