“ไทยออยล์” ย้ำเลื่อนเปิด CFP ปี 71 ไม่กระทบเงินปันผล ขณะ IRR โครงการเหลือ 7%
ผู้บริหาร “ไทยออยล์” ชี้แจงปมเพิ่มทุน โครงการ CFP อีก 6.3 หมื่นล้านบาท ยืนยันไม่กระทบเงินปันผลนักลงทุน แต่ยอมรับ IRR โครงการเหลือ 7%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ธ.ค.67) นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP พร้อมด้วยนายสุรชัย แสงสำราญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านไฮโดรคาร์บอน รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด และนางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี เปิดชี้แจงกรณีที่บอร์ดฯ TOP เพิ่มงบประมาณลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) จำนวน 63,028 ล้านบาท
นายบัณฑิต อธิบายว่า การก่อสร้างโครงการ CFP มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มจากที่เคยประมาณการณ์ไว้ เนื่องจากปัญหาการเรียกร้องค่าตอบแทนค่าจ่ายจาก UJV หรือ กิจการร่วมค้า ระหว่าง-Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. ที่ทำให้เกิดการชุมนุมของผู้รับเหมาช่วงคนไทย จนกระทั่งมีการก่อตั้งเป็นสหพันธ์ผู้รับเหมาช่วงหลายสิบบริษัท และเริ่มหยุดงานหรือบางส่วนทำงานได้น้อย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ โครงการ CFP เกิดความล่าช้า ทั้งที่ก่อสร้างสามารถดำเนินการใกล้สำเร็จแล้ว
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มจากที่คาดไว้เนื่องจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นมีความจำเป็นที่ต้องมีกรอบวงเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ตามที่ขอทั้งหมด ทั้งนี้ได้มีการจ้างที่ปรึกษาอิสระด้านบริหารโครงการใหม่เข้ามาประเมินเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทำหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาและยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยานและดีเซล ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า การก่อสร้างโครงการฯ ที่ต้องเลื่อนออกไป กว่า 3 ปี (พ.ศ.2571) เป็นผลมาจากการดำเนินงานขั้นตอนที่เหลือเป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชื่อมต่อระบบของโครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นก่อนเปิดดำเนินการ ต้องทำการทดสอบระบบจนกว่าจะมั่นใจว่า สามารถเปิดดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ บริษัทฯ ได้พยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสรุปเวลาให้แน่ชัดขึ้นในปี 2568
“ตอนนี้เรามีผู้รับเหมาที่อยู่หน้างานไม่กี่พันคน จากเดิมเกือบถึงสองหมื่นคน เพราะฉะนั้นการที่จะนำผู้รับเหมามาทำงานต่อให้เสร็จก็ต้องใช้เวลา ใช้สรรพกำลังในการที่จะดึงผู้รับเหมากลับมาทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นผู้รับเหมาช่วงรายใหม่ก็ได้ อาจจะเป็นผู้รับเหมาช่วงที่เราคิดว่าเหมาะสม เพราะฉะนั้นการดึงกลับมาต้องใช้เวลาและต้องใช้สตางค์ นอกจากนั้นไม่ใช่เรื่องคนอย่างเดียว ต้องเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ยกตัวอย่าง เครื่องจักร รถเครน นั่งร้าน ปัจจุบันผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ได้รับเงินค้างจ่ายจากผู้รับเหมาหลัก เขาก็ต้องลดค่าใช้จ่าย สิ่งเหล่านี้ถูกถอดออกจากพื้นที่ไปแล้ว ก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างจริง ๆ …” นายบัณฑิต กล่าวตอนหนึ่ง
ขณะที่ นางวนิดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บมจ.ไทยออยล์ กล่าวเสริมว่า สำหรับงบประมาณลงทุนเพิ่มของโครงการ CFP บริษัทฯ มีแผนจัดหาเงินทุน จาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เงินสดคงเหลือและกระแสเงินสด จากการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2568-2570 โดยปัจจุบันมีเงินสด 30,000 ล้านบาท หรือ 800 ล้านเหรียญ และส่วนที่ 2 จากการออกหุ้นกู้หรือการกู้ยืมจากธนาคาพาณิชย์ ต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เช่น การออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมถึงการบริหารจัดการสินทรัพย์ คาดว่า จะได้ 1,000-1,500 ล้านเหรียญ ทั้งนี้มั่นใจว่างบประมาณจาก 2 ส่วนข้างต้นจะเพียงพอ โดยบริษัทฯ ไม่มีแผนการเพิ่มทุนจากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างในโครงการครั้งนี้
นางวนิดา กล่าวต่อว่า การเพิ่มเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมส่วนใหญ่มาจากเงินสดคงเหลือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการกู้ยืม ดังนั้นบริษัทฯ ยังคงพิจารณาจ่ายเงินปันผล ตามนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิของงบการเงิน ภายหลังจากการหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฎหมายได้
ส่วนจะจ้างรายใหม่ในอนาคตหรือไม่ นายบัณฑิต ยอมรับว่า หากไม่สามารถดำเนินการต่อกับผู้รับเหมาหลักปัจจุบัน ยืนยันไทยออยล์ต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพราะเป็นโครงการเชิงกลยุทธ์ สร้างประโยชน์เพิ่มขึ้นทั้งต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ส่วนจะเป็นวิธีใด อยู่ในขั้นตอนของสัญญา หากรีบร้อน จะเสีย Position และไม่ว่าทางออกจากเป็นแนวใด ก็ต้องเตรียมใช้เงินเพิ่มเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ ทั้งในแง่ของผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง บริษัทฯ ต้องมี Option ขั้นตอนต่อไป เมื่อถึงเวลาจะแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
สำหรับฐานะทางการเงินที่บริษัทฯ จะต้องมีการกู้เงินเพิ่มนั้น นางวนิดา กล่าวว่า D/E ยังคงอยู่ภายใต้ตัวเลขที่กำหนดคือไม่เกิน 1 เท่า และปัจจุบันหลังประกาศเพิ่มทุนโครงการนี้ยังไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของบริษัทฯ
ส่วนอัตราผลตอบแทนการลงทุนระดับโครงการ (IRR) นางวนิดา กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ยอมรับว่ากระทบกับผลตอบแทน โดยเมื่อปี 2018 ขณะนั้น ประธานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ประเมิน อัตราผลตอบแทนการลงทุนระดับโครงการ (IRR) อยู่ที่ 12% แต่ปัจจุบันจากการประเมินของที่ปรึกษาการเงินอิสระ IRR ปรับตัวลดลง เหลือ 7% แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนกิจการ ทั้งนี้การดำเนินการให้โครงการ CFP แล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ให้กับบริษัทฯ และ ผู้ถือหุ้นในระยะยาว