SCB EIC เปิดมุมมอง Generative AI ยกระดับ GDP ไทย 5.9% ภายในปี 73
SCB EIC เปิดมุมมอง Generative AI เพิ่มมูลค่า GDP โลกได้ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 10 ปี และยกระดับ GDP ไทยได้ถึง 5.9% ภายในปี 73
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Generative AI (หรือ Gen AI) ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ Goldman Sachs Intelligence (2023) พบว่า Generative AI สามารถเพิ่มมูลค่า GDP โลกได้ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี คิดเป็น 7% ของ GDP โลก ปี 2023 ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่มผลิตภาพแรงงานถึง 1.5% ภายใน 10 ปี
สำหรับประเทศไทย หากสามารถปลดล็อกข้อจำกัดของทุกภาคส่วนให้พร้อมใช้งาน Gen AI ได้ SCB EIC ประเมินว่า Gen AI มีศักยภาพที่จะยกระดับ GDP ไทยได้ถึง 5.9% ภายในปี 73 ส่วนหนึ่งเพราะจะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยได้มากถึง 7.3% ภายในปี 73 โดยพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผลิตภาพรวมกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน Gen AI ของธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด การวิจัยและพัฒนา ระบบคอมพิวเตอร์ และการใช้งานโทรคมนาคม
ทั้งนี้ SCB EIC ได้สำรวจมุมมองผู้ประกอบการ SMEs และการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า ความพร้อมธุรกิจ SMEs ยังใช้งาน Gen AI ไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้ประกอบการที่ตอบแบบสำรวจ สำหรับกลุ่มที่เริ่มใช้งานแล้วกระจายอยู่ในภาคการผลิตและการบริการ โดยเฉพาะงานด้านการตลาดและการขาย สำหรับธุรกิจที่ไม่ค่อยพร้อม ยังกังวลในด้านความปลอดภัยของข้อมูลและความถูกต้องของผลลัพธ์ และยังขาดความพร้อมในด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน AI และความพร้อมของบุคลากร
ส่วนเรื่องการปรับตัว พบว่าธุรกิจเกือบ 90% เห็นประโยชน์ Gen AI ในเชิงธุรกิจ แต่ต้องใช้เวลาปรับตัว 2-5 ปี โดยคาดการณ์ว่าจะใช้ AI ทดแทนพนักงานบางส่วน โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การขนส่ง การเงินและประกันภัย โดยมีแผนลงทุนเพิ่มทักษะพนักงานในการใช้งาน Gen AI ส่งเสริมการตลาดและการขาย
ขณะที่ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าภาครัฐยังสนับสนุนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะนโยบายความปลอดภัยข้อมูล และการพัฒนาความพร้อมของทักษะแรงงาน
การมีมุมมองที่ต่างกันระหว่างธุรกิจที่เคยและไม่เคยใช้ Gen AI : สำหรับธุรกิจที่ไม่เคยใช้ Gen AI ส่วนมากเพราะยังขาดความพร้อมด้านทักษะแรงงานและความเข้าใจในเทคโนโลยี รวมมีความกังวลต่อความเสี่ยงจากการใช้งาน เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล และเสถียรภาพของระบบ จึงคาดหวังให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการวางกฎเกณฑ์การและขอบเขตการใช้งานให้ชัดเจน สำหรับธุรกิจที่ใช้งาน Gen AI อยู่แล้ว เห็นถึงความจำเป็นต่อการปรับตัวภายใต้ Digital transformation จึงค่อนข้างเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังมีความกังวลการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่
โดยผลสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ของ SCB EIC ข้างต้น สะท้อนความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวของ SMEs เพื่อรองรับการใช้งาน Gen AI ที่ยังมีข้อจำกัด และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะใช้ประโยชน์ภายในธุรกิจได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวนโยบายส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจในการใช้งาน Gen AI โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อให้ธุรกิจ SMEs สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและลดต้นทุนการเข้าถึงได้ ขณะที่ธุรกิจ SMEs สามารถเร่งปรับตัวให้ใช้ประโยชน์ Gen AI ในเชิงธุรกิจได้มากขึ้น ภายใต้กระแสการปรับตัวทางธุรกิจต่อเทรนด์ใหม่ทางเทคโนโลยีนี้ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
“การผสานระหว่างเทคโนโลยี Generative AI และนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะไม่เพียงแต่ช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ไทยสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยความสำเร็จในระยะยาวจะเกิดได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ SMEs เองในการเปิดรับและใช้งานเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการวางแผนและการดำเนินการที่สอดคล้องกัน Generative AI จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ SMEs ไทยก้าวสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกได้อย่างภาคภูมิ”