ครม. เคาะเงินหมื่น เฟส 2 – Easy E-Receipt ไม่รวมกลุ่มท่องเที่ยว หวัง GDP ปี 68 โต 3%
นายกฯ “แพทองธาร” เผยผลประชุม ครม. ส่งท้ายปี 67 คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “เงินหมื่น เฟส 2 - Easy E-Receipt” ไม่รวมกลุ่มท่องเที่ยว หวัง ปี 68 ดัน GDP ทุกไตรมาส อย่างน้อยภาพรวมไม่ต่ำกว่า 3%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ธ.ค.67) ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานได้มีได้นโยบายต่าง ๆ ที่เป็นนโยบายสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจ และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปี 68 งบประมาณจะเพิ่มขึ้นและมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ยังต้องเร่งรัดตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จึงได้ฝากข้อสังเกตให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและกระทรวงการคลัง ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้กระทรวงการคลังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน
2.ให้หน่วยงานรับงบฯ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบฯ ให้คุ้มค่าและประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
3.ให้หน่วยรับงบฯ นำเงินรายได้นอกงบประมาณหรือเงินสะสมมาใช้ดำเนินการภารกิจเป็นลำดับแรก
4.ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านผู้สูงอายุ เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น โดยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุที่มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” จะจ่ายเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน โดยให้เร่งจ่ายเงินครั้งแรก ผ่าน “พร้อมเพย์” ภายในเดือน ม.ค.68 สำหรับแจกเงินหมื่น เฟส 3 จะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปี 68
ขณะที่ ครม. เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังเสนอมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศ ปี 68 ผ่านการส่งเสริมบริโภคสินค้าและบริการ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ได้สูงสุด รวม 50,000 บาท
นอกจากนี้ ครม. รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 68 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 ที่ได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม อัตราวันละ 7-55 บาท เป็นอัตราวันละ 337-400 บาท เดิมอัตราวันละ 330-370 บาท ทั้งนี้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ จ.ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และ อ.เกาะสมุย ของ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่องก่อน ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยปรับตามแผนที่กระทรวงแรงงานจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68
ส่วนเป้าหมายจีดีพี (GDP) ทางเศรษฐกิจ ในปี 68 นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า อยากให้เกิน 3% แน่นอน ในแต่ละไตรมาส ถ้าสามารถผลักดันให้สุดได้แค่ไหนก็จะทำให้เต็มที่ เพราะไม่อยากให้ทีเดียว ต้องผลักดันทุก ๆ ไตรมาสจะได้เกิดความต่อเนื่อง
ส่วนจะทำให้ GDP เติบโต 4-5% ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพูดไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป้าหมายที่สูง ไม่ว่าใครจะพูดก็อยากไปให้ถึงตรงนั้นอยู่แล้ว
แก้ Easy E-Receipt ไม่รวมท่องเที่ยว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายเรื่องโครงการโอนเงิน 10,000 บาทให้ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเติมว่า กรอบวงเงินโครงการนี้ยังคงกำหนดไว้ที่ 40,000 ล้านบาท ย้ำยึดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” และผ่าน คุณสมบัติตามเกณฑ์ ต้องผูกพร้อมเพย์ ยืนยันดำเนินการได้แน่นอนก่อนวันที่ 29 ม.ค.68 สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยกระทรวงการคลังจะประชุมก่อนเปิดจะดำเนินการช่วงหลังปีใหม่
ส่วนมาตรการ Easy E-Receipt มีการปรับเปลี่ยน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท แบ่งเป็น 2 ตะกร้า คือ ตะกร้าแรกเป็นการจับจ่ายใช้สอยทั่วไป 30,000 บาท ส่วนตะกร้าที่ 2 ต้องใช้กับร้านวิสาหกิจชุมชน และร้านโอทอป (OTOP) 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-28 ก.พ.68
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี ตามมาตรการ Easy E-Receipt ได้ ประกอบด้วย สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน ก๊าซ ค่าบริการประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกัน ค่าบริการนำเที่ยว ค่าบริการที่จ่ายเป็นค่าที่พัก โรงแรม โฮมสเตย์ และ Non hotel ด้วย
“ที่ผ่านครม. มีการแก้ไข Easy E-Receipt 2.0 ไม่รวมลดหย่อนกลุ่มการท่องเที่ยว จะมีการพูดคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อไปว่าจะออกมาเป็นมาตรการอะไรเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงที่เหมาะสม เพราะมีข้อห่วงใยบางประการในเรื่องจังหวะเวลา เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น” นายจุลพันธ์ กล่าว