เปิดโผ 20 หุ้นเด่น รับส่งออกไทย พ.ย. ขยายตัว 8%

โบรกคัด 20 หุ้นเด่น รับตัวเลขยอดส่งออกไทย พ.ย.67 ขยายตัว 8% รับแรงหนุนทุกกลุ่ม มีมุมมองบวกต่อหุ้น AAI-ITC-CPF-GFPT-MALEE-TU-STA-NER-COCOCO-BTG-SUN-CBG-ITC-TEGH-DELTA-HANA-IVL-PTTGC-ASIAN-TFG


ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย.67 ว่า การส่งออกของไทย มีมูลค่า 25,608.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% ขณะที่ ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.67) การส่งออกของไทย มีมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.7% ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 6,269.8 ล้านดอลลาร์

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วานนี้ตัวเลขส่งออกและนำเข้าไทยเดือน พ.ย. 67 ออกมาต่ำตลาดคาดเพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ หนุนให้ดุลการค้าของไทยงวด 11 เดือนปี 67 ยังขาดดุลต่อเนื่อง อยู่ที่ 224 ล้านเหรียญฯ หรือขาดทุน 6.27 พันล้านบาท จึงทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้ม “ขาด ดุลการค้า” ต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน ตั้งแต่ปี 65-67 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกังวลต่อดุลบัญชี เดินสะพัดในลำดับถัดไป และถือเป็นปัจจัยที่ทำให้นโยบายการคลังอาจจะเข้ามากระตุ้น เศรษฐกิจไทยได้น้อยลง และต้องเพิ่งพานโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจแทน

ขณะที่วานนี้มีประเด็น คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ตีตกชื่อ “นายกิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท.เหตุมีพฤติกรรมดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง จะทำให้การใช้นโยบายการเงินช่วยดันเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หายไป อาทิ การแก้ กฎหมายแบงก์ชาติ, โยกหนี้ FIDF ไปบัญชี ธปท., หาช่องใช้ทุนสำรอง และแซนด์บ็อกซ์ เงินดิจิทัล ซึ่งแนวทางการแก้ไขมีอยู่ 2 แนวทาง

1.เลื่อนชื่อลำดับรองขึ้นมาแทน 2. เสนอชื่อใหม่ โดยแบ่งเป็นของ ก.คลัง 1 รายชื่อ, ธปท. 2 รายชื่อ ด้วยประเด็นข้างต้นทั้งตัวเลขดุลการค้าที่ไม่ดีนัก และมีความไม่แน่นอนของแนวทางการ ใช้นโยบายการเงินของ ธปท. จึงทำให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติอาจยังไม่ไหลกลับเข้าตลาดหุ้น ไทยมากนัก และกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าตามกลไก

ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์การลงทุนช่วงสั้น เน้นหุ้นที่มีสินค้าส่งออกขยายตัวหลักๆ ดังนี้

ยางพารา เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีมุมมองบวกต่อ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER

อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้น 18.10% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีมุมมองบวกต่อ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI, บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC , บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN

ไก่สด แช่เย็น แช่เย็น เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีมุมมองบวกต่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บวกต่อ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ระบุว่าตัวเลขส่งออก ไทยเดือน พ.ย. 67 ออกมาขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนต่ำกว่าตลาดคาดที่ 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 14.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 หลังพลิกมาติดลบในเดือน มิ.ย.67 ที่ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ทำให้ตัวเลขส่งออก 11 เดือนรวมขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนตัวเลขนำเข้าขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเช่นกัน โดยผู้อำนวยการสนค.เผย สัดส่วนนำเข้าไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน และวัตถุดิบสำหรับการผลิต ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดในเดือน พ.ย.67 ซึ่งไทยจึงขาดดุลการค้าสุทธิ 224.4 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ไก่สด ไก่แช่แข็ง และแปรรูป กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และ อาหารทะเลแปรรูป รวมถึงสินค้า อุตสาหกรรม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบสร้างแรงหนุนให้หุ้นที่ผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกต่อหุ้นส่งออก คือ STA, NER, บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH, AAI, ITC, CPF, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, ASIAN

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่ายอดส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2567 ตามข้อมูลศุลกากรว่าเพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งค่อนข้างเป็นไปตามคาด โดยในหมวด F&B ยอดส่งออกเป็นบวกกับ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, ITC, บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN และผู้ผลิตเนื้อสัตว์ โดยทางฝ่ายวิจัยเลือก บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG และ SUN เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่ม F&B

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่ายอดส่งออกนำเข้าเดือนพ.ย.67 ออกมาขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าตลาดคาดเล็กน้อย มีมุมมองบวกต่อยอดสินค้าที่ส่งออกดี ได้แก่ ไก่สดแช่เย็น ขยายตัว 2 เดือนเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน งวด 11 เดือนปี 67 เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีมุมมองบวกต่อ CPF, GFPT

ยอดส่งออกน้ำมะพร้าวทั่วโลกเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน งวด 11 เดือนปี 67 เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน มีมุมมองบวกต่อ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE, บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO

อาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 18.10% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน งวด 11 เดือนปี 67 เพิ่มขึ้น 24.30%) ขยายตัว 14 เดือนติด มีมุมมองบวกต่อ AAI, ITC

ยางพาราเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน งวด 11 เดือนปี 67 เพิ่มขึ้น 35.80% ขยายตัว 13 เดือนติด เป็นจิตวิทยาบวกต่อ STA, NER

อาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน งวด 11 เดือนปี 67 เพิ่มขึ้น 10.30%) ขยายตัว 5 เดือนติด มีมุมมมองบวกต่อ TU

สำหรับเชิงกลยุทธ์ เน้นลงทุนหุ้นอิงกลุ่มสินค้าที่ยอดส่งออกเร่งขึ้นไก่ คือ CPF, GFPT และน้ำมะพร้าว คือ MALEE

Back to top button