Luxumer กับการตลาดเชิงอารมณ์

ช่วงระหว่างเทศกาลแห่งการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่น่าจับตาการโตสวนกระแสไม่แคร์เศรษฐกิจผันผวนของเหล่าบรรดากลุ่ม Luxumer


ช่วงระหว่างเทศกาลแห่งการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่น่าจับตาการโตสวนกระแสไม่แคร์เศรษฐกิจผันผวนของเหล่าบรรดากลุ่ม Luxumer (ลักซูเมอร์) จากปรากฏการณ์ “เสพติดความลักซ์” ที่ทำให้สินค้าไฮเอนด์เติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนเศรษฐกิจที่ทรงตัวในภาพรวม..

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ทำการวิจัยหัวข้อ “Unstoppable Luxumer : เจาะอินไซด์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” บ่งชี้ให้เห็นพฤติกรรมติดหรูของคนไทยและโอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตามต่อไป

“ผศ.ดร.สุเทพ นิ่มสาย” หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์การตลาดจาก CMMU กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดสินค้าหรูว่าโลกแห่ง “ความลักซ์” จะไม่ได้จำกัดเพียงแค่สินค้าแบรนด์เนม แต่ขยายไปยังสินค้าและบริการรอบตัวที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์สุดพรีเมียมและราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบสินค้าหมวดหมู่เดียวกัน

กลุ่ม Luxumer ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม เพราะหากสามารถสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่ม Luxumer ได้จะกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีกำลังซื้อสูง ไม่มองเรื่องราคาเป็นข้อจำกัด อีกทั้งพร้อมซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

โดยกลยุทธ์ PREMIUM ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้กับบรรดานัก “เสพติดความลักซ์” นั่นก็คือ..

P-Privilege มอบสิทธิพิเศษเหนือระดับกว่าลูกค้าทั่วไปเพื่อให้ชาว Luxumer รู้สึกได้ถึงความ VIP เช่น การให้สิทธิเข้าถึงสินค้าใหม่ก่อนใคร บริการที่จัดเตรียมเฉพาะบุคคล หรือการเข้าร่วมกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

R-Rare มอบสินค้าและบริการหายากไม่ว่าจะเป็นสินค้า Rare Item, Limited Edition หรือ Made by order ที่ไม่เหมือนใครหรือไม่สามารถหาซื้อได้ง่าย ๆ เพื่อให้กลุ่ม Luxumer รู้สึกถึงความพิเศษ รู้สึกถึงชัยชนะและภูมิใจที่ได้ครอบครอง

E-Emotional สร้างความผูกพันทางอารมณ์ เชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับอารมณ์และความรู้สึก โดยใช้เรื่องราวสะท้อนความรัก ความสำเร็จหรือช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ทำให้กลุ่ม Luxumer รู้สึกว่าการซื้อสินค้าหรูเป็นมากกว่าแค่การซื้อสินค้า แต่เป็นการลงทุนที่มีคุณค่าทางจิตใจ

M-Memorable สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่า น่าจดจำ เช่น การได้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ อย่างเช่นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง การได้พบปะบุคคลสำคัญหรือไอดอลที่ชื่นชอบทำให้ชาว Luxumer จดจำแบรนด์ได้และนึกถึงทุกครั้งเมื่อระลึกถึงประสบการณ์สุดประทับใจ

I-Innovation นำเทรนด์ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยเพื่อดึงดูดใจชาว Luxumer ที่ชื่นชอบความทันสมัยและสะดวกสบาย ตัวอย่างเช่น การใช้ AI มาช่วยออกแบบและปรับแต่งสินค้าหรือบริการเฉพาะบุคคล เช่น การออกแบบรองเท้าจากข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ใช้

U-Unique สร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างจากสินค้าที่วางขายทั่วไป ทำให้ชาว Luxumer รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของสิ่งที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครและเป็นตัวแทนของรสนิยมเฉพาะตัว

M-Motivation สร้างแรงจูงใจเชื่อมโยงแบรนด์กับเป้าหมายและความสำเร็จ โดยทำให้กลุ่ม Luxumer รู้สึกว่าแบรนด์ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความสำเร็จของผู้ครอบครอง

สำหรับปี 2568 ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหรือถดถอย “การตลาดเชิงอารมณ์” จะนำพาสินค้าและบริการระดับหรูมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง..!!

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button