FAO ย้ำดูแลการใช้ยาพ่นยุง รับมือไวรัสซิกาใกล้ชิด

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติย้ำดูแลการใช้ยาพ่นยุง รับมือไวรัสซิกาใกล้ชิด ห่วงกระทบห่วงโซ่อาหาร


องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ทางองค์การสามารถให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิกา ด้วยการเข้าไปแทรกแซงตามจุดต่างๆ พร้อมสร้างความมั่นใจว่าประชาชนและสภาพแวดล้อมจะไม่เผชิญกับภัยเสี่ยงด้านสุขภาพและอื่นๆจากการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายโดยไม่เหมาะสม

ด้านสเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ เปิดเผยว่า  “ในอนาคตอันใกล้นี้ น่าจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อพ่นใส่ยุงหรือบำบัดน้ำเพิ่มขึ้นมาก”

อย่างไรก็ตาม FAO เน้นย้ำว่า ควรมีการยกระดับมาตรการรับมือให้ฉับไวและเรียบง่ายยิ่งขึ้นเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา โดยนายดูจาร์ริค กล่าวว่า “เพื่อกำจัดแหล่งน้ำนิ่งอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง”

ด้านโฆษกสหประชาชาติกล่าวว่า “หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงจริงๆแล้ว ทาง FAO ก็ได้ชี้แนะว่าควรมีการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของมนุษย์และปกป้องห่วงโซ่อาหารจากการปนเปื้อน”

ทั้งนี้ ไวรัสซิกามียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาและไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งคาดกันว่า ไวรัสซิกามีส่วนก่อให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด จึงเป็นสาเหตุให้มีการชี้แนะให้หญิงในบราซิล โคลอมเบีย และเอลซัลวาดอร์ หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดนี้

อนึ่งไวรัสซิกาถูกตรวจพบครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกา ในฝูงลิงแห่งป่า Zika Forest ประเทศยูกันดาเมื่อปี 2490 อาการโดยทั่วไปจะรวมถึงอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เยื่อตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อและมีผื่นแดงตามผิวหนัง โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ

โดยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยาที่จะรักษา ผู้ป่วยมักจะได้รับคำแนะนำให้พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ โดยจะเป็นการรักษาไปตามอาการ และผู้ป่วยจะหายได้เองใน 7 วัน สำนักข่าวซินหัวรายงาน

Back to top button