EA ลุยระดมทุน 7.4 พันลบ. ฟื้นฟูธุรกิจ-ย้ำกระแสเงินสด 9 เดือนปี 67 แกร่ง 5.6 พันล้าน
EA เดินหน้าระดมทุน 7.4 พันล้านบาท ฟื้นฟูธุรกิจ พร้อมตั้งบริษัทร่วมทุนจีนภายใต้ชื่อ “Chengli Special Automobile” ผลิตรถยนต์ในไทยคาดรับรู้รายได้ปี 69 ย้ำกระแสเงินสด 9 เดือนแรกปี 67 แกร่ง 5.6 พันล้านบาท
นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) บริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา
โดยการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ, การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่, ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า, รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า
“เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน” นายฉัตรพล กล่าว
ขณะที่ บริษัทมีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของบริษัท และบริษัทนับเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้รายแรกๆ ในประเทศไทย ซึ่งการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์นั้นกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ด้วยกระแสรายได้ที่มั่นคงและอัตรากำไรที่นำหน้าในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ของบริษัท ซึ่งกำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดของเราไป หลักๆ แล้วสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง บริษัทจึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ ทั้งนี้ การตัดสินใจทั้ง 2 อย่างได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของบริษัทได้สำเร็จ
นอกจากนี้ บริษัทมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาลสำหรับ EA ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ แต่เพื่อที่จะฉวยโอกาสเหล่านี้ บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ก่อนอื่นต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และประการที่สอง บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนของบริษัทให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน บริษัทได้ลงมือเดินหน้าขับเคลื่อนตามกลยุทธ์นี้แล้ว ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ปัจจุบัน EA กำลังจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดใน ประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยบริษัทร่วมทุนนี้ คือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ ในบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ EA ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ตกลงกันว่ายานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 – 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568 โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานเราจะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับรายได้ปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569
โดย EA ยังได้รายงานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนการผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568
“เรามีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ โดยได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ถึง 99.9% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในการเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่ เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้เราสามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพล กล่าว
ด้าน นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA กล่าวเสริมว่า เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 7 มกราคม หลักๆ จะถูกนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ซึ่งบริษัทหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท ลงเหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทแล้วจะช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วยและเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นส่งผลให้เราประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย
ขณะที่ ระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน คือ ระหว่างวันที่ 17 – 23 มกราคม 2568 โดยจากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท