“กกร.” มอง GDP ไทยปีนี้โต 2.9% หวั่น “หนี้ครัวเรือน-เศรษฐกิจนอกระบบ” กดดัน

“กกร.” คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เติบโตเฉลี่ย 2.4-2.9% รับแรงหนุนภาคท่องเที่ยว แนะรัฐแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเศรษฐกิจนอกระบบ หลังกระทบต่อการเติบโตในระยะยาว


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้  (8 ม.ค. 68) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.4 – 2.9% ขณะที่การส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5-2.5% ต่ำกว่าปี 2567 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-1.2% พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน

อีกทั้ง ประกอบกับมาตรการของภาครัฐ ที่จะทยอยออกมาในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการโอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และ 3 รวมถึงมาตรการ Easy e-Receipt

“เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีโมเมนตัมและเติบโตได้ดีจากมาตรการภาครัฐ ช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐน่าจะออกมาตรการเพิ่มเติม อย่างเช่น มาตรการคนละครึ่งได้ผลไปถึงรากหญ้า”  นายสนั่น ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนสูงถึง 104% ของ GDP, เศรษฐกิจนอกระบบ ที่มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP และธุรกิจ SMEs ขาดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขัน ที่จะรับมือกับการตีตลาดของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เช่น ผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ, เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการในการแข่งขันและก้าวทันกระแสโลก, ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ, ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ, แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเติมเครื่องมือให้ SMEs สามารถปรับตัวได้ เป็นต้น

ขณะที่ กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ของ กกร. เป็นดังนี้ ปี 67 (ธ.ค.67)  คาดการณ์ GDP เติบโต 2.8% ขณะที่ ปี 68 (ม.ค.68) คาดการณ์ เติบโตอยู่ที่ 2.4 ถึง 2.9 ส่วนภาคส่งออกปี 67 (ธ.ค.67) คาดการณ์ GDP เติบโต 4.0% ขณะที่ ปี 68 (ม.ค.68) คาดการณ์ เติบโต 1.5 ถึง 2.5% นอกจากนี้คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 67 (ธ.ค.67) อยู่ที่ 0.4% ขณะที่ ปี 68 (ม.ค.68) คาดการณ์อยู่ที่ 0.8 ถึง 1.2%

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น นายสนั่น กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนจึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะสามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าไปก่อนได้ ซึ่งคาดว่าหากตัดสินใจดำเนินมาตรการใดก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ในส่วนของไทยเองก็จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทางสหรัฐฯ เข้าใจถึงดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีการตีตลาดของสินค้าราคาถูกนั้นเป็นเรื่องที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชน เพราะการจ้างทนายความต่อสู้คดีนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐควรเร่งใช้มาตรการอื่นภายใต้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 อาทิ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งควรพิจารณาปรับลดกรอบระยะเวลาการไต่สวน ลดขั้นตอนการปฏิบัติ

“เรามีกฎหมายมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้นำมาบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นภายใต้หลักการ Free & Fair ที่ส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”  นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ นโยบายลดค่าไฟฟ้าให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาทว่า เป็นเรื่องดีที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าไฟถูกกว่า ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอก็ตาม

Back to top button