EEC เร่งสปีดดึงลงทุนแสนล้าน! ชูโครงการ Smart City สู่ Net Zero ใน 3 ปี

เลขาธิการ EEC ตั้งเป้าดึงนักลงทุน ปีละ 1 แสนล้านบาท ผุด EEC City สร้างเมืองใหม่ รองรับเทรนด์ Net Zero ส่วนปัญหารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มั่นใจเริ่มก่อสร้างได้แน่ภายใน เม.ย. ปีนี้ ด้าน “กอบศักดิ์” เชื่อ EEC ช่วยดึงต่างชาติลงทุนในไทย ทำ GDP โตกว่า 3% ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ม.ค.68) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO จัดเสวนาโครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 1/2568 : เลขาธิการ EEC พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบัน ในหัวข้อ ทิศทาง & แนวนโยบาย EEC ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ ตามเทรนด์การลงทุนโลก

โดยนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า ปี 2568-2569 ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งการลงทุน สำหรับพื้นที่ EEC โดยมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“น้ำขึ้นต้องรีบสูบ ไม่เช่นนั้นจะไหลทิ้งไปหมด เดี๋ยวคนอื่นจะเอาไป” เลขาธิการ EEC กล่าว

นายจุฬา กล่าวต่อว่า EEC ตั้งเป้าหมายดึงนักลงทุน ปีละ 1 แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นตัวเลขจากการลงทุนจริง ไม่ใช่จากมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยในปี 2567 นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน EEC มากที่สุด คือนักลงทุนจากประเทศจีน  รองลงมาคือ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ

“ผมพยายามจะให้เขา (บริษัท) ลงทุนได้เร็ว ภายใน 6-8 เดือน เพราะเรากำหนดว่าถ้ามีการลงทุนเร็ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ดี แต่จะลงทุนได้เร็ว เราต้องช่วยแก้ปัญหาในส่วนของใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อให้วางแผนได้ล่วงหน้า เพราะนักลงทุนเหมือนกับต้องมาให้เราวัดตัวตัดเสื้อว่า จะลงทุนเท่าไหร่ จะใช้คนตำแหน่งไหน จ้างคนเท่าไหร่ ซึ่งเราเตรียมข้อมูลตรงนี้ไว้ให้” เลขาธิการ EEC กล่าว

นายจุฬา ยังได้กล่าวถึงโครงการที่น่าสนใจอย่างโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ หรือ EEC City ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวว่า เป็นการพัฒนาเมืองใหม่ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนจากการเป็น Smart City ให้ก้าวไปสู่ Net Zero City โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

เลขาธิการ EEC กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่เป็นสัญญาณความก้าวหน้าของ EEC คือมีการยื่นขอจัดตั้ง เขตนิคมอุตสาหกรรมอีก 30 ราย ซึ่งกำลังรอการอนุมัติจากบอร์ด EEC ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายผังเมือง โดยการพัฒนานี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น หอพัก ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ EEC

สำหรับความคืบหน้าในการขยายพื้นที่ EEC เพิ่มเติม “ปราจีนบุรี” เป็นจังหวัดที่ 4 นั้น นายจุฬา คาดว่า น่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากอุตสาหกรรม มากถึง 75% รองลงมาคือภาคบริการและภาคเกษตรกรรม ส่วนจังหวัดที่ 5 คาดว่าจะเป็นจันทบุรี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC

เลขาธิการ EEC ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งยังไม่เริ่มการก่อสร้างหลังจากที่ค้างคามานานกว่า 5 ปี โดยบ่ายวันนี้จะมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าและการกำหนดไทม์ไลน์ในการเดินหน้าโครงการนี้ ประเด็นสำคัญคือการส่งร่างสัญญาร่วมทุนที่ได้รับการแก้ไขให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อตรวจร่าง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน จากนั้นจะส่งร่างที่ได้รับการตรวจแล้วกลับมาให้บอร์ดกพอ. พิจารณาและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.68 และคาดว่าเซ็นสัญญาเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนเม.ย. 68

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO

ขณะที่ นายกอบศักดิ์ เห็นด้วยกับเลขาธิการ EEC ที่ว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่การลงทุนจากต่างชาติกลับเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน เนื่องจาก EEC เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอาเซียน เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทั้งสนามบิน ทางด่วน การขยายถนน และการเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือ 2 แห่ง หากก่อสร้างเสร็จสิ้นจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ของไทยให้เติบโตได้มากกว่า 3% ในอนาคต

Back to top button