ดัชนีเชื่อมั่นผู้ผลิตญี่ปุ่นฟื้นตัว

จากผลสำรวจประจำไตรมาส 3/67 ผ่านมา พบว่าความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่น มีการปรับตัวดีขึ้น และถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อแผนของธนาคารกลาง


จากผลสำรวจประจำไตรมาส 3/67 ผ่านมา พบว่าความเชื่อมั่นผู้ผลิตรายใหญ่ญี่ปุ่น มีการปรับตัวดีขึ้น และถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อแผนของธนาคารกลาง ที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยผลการสำรวจระบุว่าภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้ผลิตมองสภาวะทางธุรกิจทางบวก แม้มีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีหลักที่วัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตรายใหญ่ ช่วงเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ +14 เป็นระดับสูงสุด และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ระดับ +12 และจากระดับ +13 ช่วง 3 เดือนก่อนหน้า

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า ความเชื่อมันที่สูงขึ้นเกิดจากการฟื้นตัวของการผลิตยานยนต์และความต้องการอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เพิ่มการใช้จ่ายด้านทุน

“ไซสุเกะ ซาไก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Mizuho Research & Technologies กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ สามารถรับมือกับเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลงได้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับ BOJ และแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจและราคายังดำเนินตามทิศทางที่ดี

ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้ผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ +33 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ +32 แต่ลดลงเล็กน้อยจาก +34 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก โรงแรม และภัตตาคารกำลังเผชิญปัญหาในการจ้างพนักงาน รวมถึงพบแรงกดดันจากต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

“คาซุทากะ มาเอดะ” นักเศรษฐศาสตร์จาก Meiji Yasuda Research Institute กล่าวเสริมว่า ความต้องการจากการท่องเที่ยวขาเข้า จะถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ภาคครัวเรือนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

โดยบริษัทขนาดใหญ่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายเงินทุนขึ้น 11.3% ช่วงปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2568 สูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 10.6% และตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 9.6%

ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของบริษัทที่ไม่ใช่ผู้ผลิตขนาดเล็ก ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ไม่เคยเห็นมา นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นผลจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่ช่วยยกระดับกำไร นอกจากนี้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น กำลังปรับตัวเข้ากับการเพิ่มขึ้นของราคาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของ BOJ สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

รายงานว่าบริษัทต่าง ๆ เริ่มคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ จะสูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า สะท้อนว่าสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากระดับต่ำกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทเหล่านี้ยังคงกังวลว่าเศรษฐกิจอาจแย่ลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า อันเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์

โดย “ไซสุเกะ ซาไก” จาก Mizuho Research & Technologies กล่าวว่า ภาษีของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรของผู้ผลิตรถยนต์ ขณะที่ธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้ผลิตต้องระมัดระวังถึงการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้การบริโภคยังอ่อนตัวจากการที่ราคาสินค้าปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีมีการประเมินว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายต้องการเวลาในการพิจารณาความเสี่ยงจากต่างประเทศมากขึ้น แม้จะยังไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว

Back to top button