ตลาดหุ้นกู้ระส่ำ! มูลค่าออกใหม่หด 10% หลังปี 67 ผิดนัดอื้อ กลุ่มไฮยีลด์วูบ 50%

ตลาดหุ้นกู้ระส่ำ! มูลค่าออกใหม่ปี 68 แตะ 850,000-900,000 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน หลังพบปี 67 ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 5 ราย พ่วงขอเลื่อนชำระไถ่ถอน 17 ราย พร้อมมีความกังวลหุ้นกู้ "ไฮยีลด์" ปรับตัวลดลง 50%


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (10 ม.ค.68) นางสาวอริยา ตีรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่าในปี 68 คาดการณ์การออกหุ้นกู้เท่ากับ 850,000-900,000 ล้านบาท จากปี 67 ที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไป 913,141 ล้านบาท โดยในกลุ่ม Investment grade ที่ครบกำหนดในปีนี้เชื่อว่าจะสามารถ Rollover ได้ ขณะที่กลุ่ม High Yield อาจมีการชะลอการออกหุ้นกู้ไปก่อน อย่างไรก็ตามมองว่าสถานการณ์น่าจะไม่ได้แย่นัก

ด้านหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดปี 68 วงเงิน 893,275 ล้านบาท แบ่งเป็น Investment grade อยู่ที่ 85% มูลค่า 7.6 แสนล้านบาท ซึ่งจากปีที่ผ่านมา Investment Grade ที่ครบกำหนดสามารถ Rollover ได้มากกว่าที่ครบตามจำนวน เชื่อว่าปีนี้ก็ไม่มีปัญหาในการ Rollover ขณะที่ High Yield อยู่ที่ 15% มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มที่ต้องติดตามเนื่องจากปีที่ผ่านมาบางรายอาจต้องเข้าไปหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้

ขณะที่ หุ้นกู้ผิดนัดชำระในปี 67 มีวงเงินรวม 3,172 ล้านบาท จากผู้ออก 5 ราย และหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระในปี 67 รวม 37,963 ล้านบาท จากผู้ออก 17 ราย โดยมี 12 บริษัทที่เป็นผู้ออกรายใหม่ที่เพิ่งเคยเลื่อนกำหนดชำระ

ทั้งนี้ ผู้ผิดนัดชำระหนี้ 5 รายข้างต้น ได้แก่ 1.บริษัท พีพี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท (เมื่อเดือน ม.ค.) 2.บริษัท ซิซ่า กรุ๊ป จำกัด (CISSA) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 217 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.พ.) 3.บริษัท ไอริส กรุ๊ป จำกัด จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 859 ล้านบาท (เมื่อเดือน มิ.ย.-ส.ค.) 4.บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 408 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.ย.) และ 5.บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 1,296 ล้านบาท (เมื่อเดือน พ.ย.)

ในส่วนของ 17 รายที่เลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ รวม 51 รุ่น มูลค่ารวม 37,963 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 14,455 ล้านบาท (เมื่อเดือน ม.ค.) 2.บริษัท สยามนุวัตร จำกัด (SNW) จำนวน 3 รุ่น มูลค่า 520 ล้านบาท (เมื่อเดือน ม.ค.) 3.บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 300 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.พ.) 4.บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JCK) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 612 ล้านบาท (เมื่อเดือน มี.ค./ก.ค.) 5.บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 500 ล้านบาท (เมื่อเดือน มี.ค.)

6.บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 1,672 ล้านบาท (เมื่อเดือน มี.ค.) 7.บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 389 ล้านบาท (เมื่อเดือน พ.ค.) 8.บริษัท เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (JCKD) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 375 ล้านบาท (เมื่อเดือน พ.ค.) 9.บริษัท เอเซีย พรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) (APCS) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 385 ล้านบาท (เมื่อเดือน มิ.ย.) 10.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 6,200 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.ค./ส.ค.)

11.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 912 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.ย.) 12.บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 570 ล้านบาท (เมื่อเดือน ก.ย.) 13.บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จำนวน 16 รุ่น มูลค่า 4,789 ล้านบาท (เมื่อเดือน ต.ค.)

14.บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 408 ล้านบาท (เมื่อเดือน พ.ย.) 15.บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จํากัด (มหาชน) (PHUKET) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 1,277 ล้านบาท (เมื่อเดือน ธ.ค.) 16.บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SABUY) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 3,947 ล้านบาท (เมื่อเดือน ธ.ค.) และ 17.บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MDL) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 652 ล้านบาท (เมื่อเดือน ธ.ค.)

นางสาวอริยา กล่าวว่า บริษัทไหนที่เริ่มเห็นสัญญาณว่าอาจไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้ ก็ต้องไปเจรจาขอยืดหนี้ แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าทุกรายจะสามารถคืนหนี้ที่เลื่อนชำระมาได้หรือไม่ แต่สิ่งที่สมาคมฯ เห็นคืออย่างน้อยหลายบริษัทต่างๆ มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังชะลอตัว อาจทำให้ปีนี้จะยังเห็นหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนการชำระออกไปอยู่

 “สำหรับบริษัทใหม่ถ้าจะออกหุ้นกู้ต้องเป็นบริษัทที่ค่อนข้างมีคุณภาพจากการยกระดับเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดี หุ้นกู้ที่มีอยู่หากมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอาจนำไปสู่การขอเจรจายืดหนี้อยู่ดี ซึ่งเดือนม.ค. 68 จนถึงปัจจุบันมีการแจ้งประชุมผู้ถือหุ้นกู้มาแล้วอย่างน้อย 2 บริษัท” นางสาวอริยา กล่าว

ด้านหุ้นกู้ ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่เลื่อนกำหนดชำระและจะครบกำหนดในปีนี้ ตั๋ว B/E รุ่นเรตติ้ง BBB+ จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 700 ล้านบาทที่มี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นเจ้าหนี้ ครบกำหนดในเดือนก.ค. 68 และรุ่นเรทติ้ง BBB+ 2 รุ่น มูลค่า 5,500 ล้านบาท ครบกำหนดเดือนส.ค. 68 เชื่อว่าน่าจะสามารถชำระคืนหนี้ได้ เนื่องจาก EA ยังมีรายได้จากการขายไฟเข้ามา ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น

ขณะที่ ประเด็นกฎกระทรวงที่กำหนดการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. 67 ซึ่งกำหนดให้การลงทุนในนิติบุคคลต่อแห่งได้ไม่เกิน 10% เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมและทุนสำรองของสหกรณ์นั้น ๆ โดยปัจจุบันสหกรณ์ถือครองหุ้นกู้ประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12% แต่เนื่องจากสหกรณ์ขนาดใหญ่ปัจจุบันมีการลงทุนหุ้นกู้มากกว่า 1 เท่า ทำให้สหกรณ์ต้องชะลอการซื้อหุ้นกู้เพิ่มเพื่อทยอยลดสัดส่วนการถือครองให้เป็นไปตามเกณฑ์ภายใน 10 ปี ทำให้สัดส่วนที่สหกรณ์ถือครองหุ้นกู้จะไม่เพิ่มขึ้น

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวถึงภาพรวมการออกหุ้นกู้ในปี 68 คาดว่าจะใกล้เคียงจากปีก่อน หรืออาจลดลงเล็กน้อย โดยยังมีปัจจัยบวกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยปรับตัวลดลง รวมทั้งในปี 68 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดจำนวนมาก ทำให้บริษัทต่าง ๆ อาจออกหุ้นกู้เพิ่มอีก ขณะที่ ปัจจัยลบมองว่านักลงทุนสามารถแยกแยะได้ว่าปัจจัยเฉพาะตัวมากกว่า

ส่วนมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยปี 67 เท่ากับ 17.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 913,141 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า โดยหุ้นกู้กลุ่ม High yield มีอัตราการออกลดลงมากกว่ากลุ่ม Investment grade สะท้อนถึงความกังวลและการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุนในปีที่ผ่านมา โดย กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ทั้งนี้ ทิศทางการออกหุ้นกู้ในช่วงปีที่ผ่านมาปรับตัวลงจาก High yield ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีมูลค่าการออกหุ้นกู้ลดลงประมาณ 50% หรือคิดเป็น 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยออกหุ้นกู้กว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการออก ESG bond ในปี 67 อยู่ที่ 179,192 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยในปีนี้ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลัง ออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เป็นรุ่นแรก มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และเป็นรุ่นแรกที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศในเอเชีย นอกจากนั้น ยังมีผู้ออก ESG bond รายใหม่จากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนรวม 6 ราย ปัจจุบันจึงมีผู้ออก ESG bond รวม 35 ราย มูลค่าคงค้าง ESG bond อยู่ที่ 815,402 ล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย

ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในปี 67 มีลักษณะ Bullish Flattening ที่เส้น Bond yield ปรับตัวแบนราบมากขึ้นจากการที่ Bond yield รุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลงราว 0.32-0.40% มากกว่า Bond yield รุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปี โดย ณ สิ้นปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.02% 2.10% และ 2.30% ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในปี 67 ของหุ้นกู้อันดับเครดิต AAA ถึง A ปรับตัวลงในช่วง 0.29-0.33% ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่หุ้นกู้อันดับเครดิต BBB+ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.15% จากการระมัดระวังการลงทุนของผู้ลงทุน โดย ณ สิ้นปี 67 อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A และ BBB+ เท่ากับ 2.81%, 2.99%, 3.27% และ 4.67% ตามลำดับ

โดยกระแส เงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในปี 67 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 67,395 ล้านบาท เป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย จำนวน 125,959 ล้านบาทในสองไตรมาสแรกกับไตรมาสที่สี่ และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย จำนวน 58,561 ล้านบาท ในไตรมาสที่สาม ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นปี 67 จำนวน 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.7 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.6 ปีเมื่อสิ้นปี 66

ขณะที่ ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 68 ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 0.50% เหลือ 1.75% จากปัจจุบันที่ 2.25% โดยจะเริ่มมีการปรับลดในช่วงไตรมาส 2 ส่วนคาดการณ์ Bond yield ไทยในปี 68 คาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะปรับตัวลงเฉลี่ย 0.05-0.15% จากปลายปี 67 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ และกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) เป็นสำคัญ

Back to top button