KKPS ชี้ ROE ไทยต่ำสุดในรอบทศวรรษ แต่ยังมีสัญญาณฟื้นตัว พร้อมปรับ P/B เพิ่มอีก 20%
KKPS เปิดเผย ROE ไทยต่ำสุดในรอบทศวรรษ แต่ย้ำว่าเป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักร พร้อมคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวในระยะกลาง โดย ROE อาจเพิ่มขึ้นถึง 2.5% หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับปกติ ด้าน P/B ของตลาด SET คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Chat with Tony : Bull Rally of Thai Capital Market” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีอยู่ 3 คำ คือ Trust (ความเชื่อถือ), Confidence (ความเชื่อมั่น) และ Sentiment ซึ่งทั้ง 3 ด้าน ในขณะนี้ยังไม่ค่อยดีนักต้องนำกลับคืนมาให้ได้ ปัจจุบันหุ้นหลายตัวมี P/BV และ P/E ต่ำ โดยมีแนวคิดสนับสนุนโครงการซื้อหุ้นคืน หรือ Treasury Stock ของบริษัทจดทะเบียน และให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไร ให้ “ราคาหุ้น” กับ “มูลค่าทางบัญชี” ใกล้เคียงกัน เพราะปัจจุบันหุ้นหลายตัวราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีนั้น
มุมมองของ นายทักษิณ ในประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึงสถานะปัจจุบันของอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น : Return on Equity (ROE) ในประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยจากการสำรวจพบว่าอยู่ที่ 9.60% ณ ปี 67 ซึ่งต่ำกว่าระดับเมื่อปี 54 เกือบครึ่งหรือคิดเป็น 19.40%
อีกทั้งตัวเลข ROE ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 4 จากท้ายสุดในทวีปเอเชีย หากไม่รวมญี่ปุ่น โดยอีก 3 ประเทศนั้น ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ของ KKPS แสดงให้เห็นว่าการลดลงนี้ เป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักรเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า ROE สามารถกลับมาที่ระดับปกติ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP ที่แท้จริง (Real GDP)
ขณะที่ จากการวิเคราะห์แบบภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และลงมาที่หุ้น (บริษัท จดทะเบียน) Top-down โดย KKPS ระบุว่าการวิเคราะห์ในรูปแบบดังกล่าวเผยให้เห็นข้อมูลสำคัญ 2 ประการ ที่อาจส่งผลให้ ROE เพิ่มขึ้นในระยะยาว คือ 1. ROE ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากอัตราเติบโตของ GDP ในปัจจุบัน
2.การลดลงของ ROE ส่วนใหญ่มาจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 1-1.5% อาจช่วยเพิ่ม ROE ได้ โดยผลการวิเคราะห์ของ KKPS ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ROE อาจปรับตัวสูงขึ้น 2.5% (percentage point) เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน
ขณะที่การวิเคราะห์แบบ Bottom-up หรือที่เรียกกันว่าการวิเคราะห์จากล่างสู่บน เป็นการมุ่งเน้นมาที่ข้อมูลรายบริษัทก่อน เช่นมูลค่าของบริษัท และฐานะทางการเงิน โดยฝ่ายวิเคราะห์ของ KKPS ได้ข้อสรุปในแบบเดียวกันกับการวิเคราะห์เชิง Top-down โดยการใช้การวิเคราะห์แบบ DuPont ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ ROE เพื่อแยกแยะส่วนประกอบต่างๆ ออกมาในรูปแบบที่เห็นได้ชัดมากขึ้น ซึ่ง KKPS ประมาณการว่า ROE จะปรับเพิ่มขึ้น 2.3% ซึ่งสอดคล้องกับผลของการวิเคราะห์เชิง Bottom-up ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ KKPS วิเคราะห์การปรับค่าอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) ซึ่งโดยปกติแล้ว P/B ของตลาดมีค่าความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้กับส่วนต่างระหว่าง ROE และต้นทุนของเงินลงทุน (cost of capital) โดยการใช้การวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis) แสดงให้เห็นว่า P/B ของ SET อยู่ที่ 1.65 เท่า ซึ่งคิดเป็นส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นอีก 20% จากปัจจุบันที่ 1.37 เท่า
ส่วนมุมมองปี 68 แม้จะมีการคาดการณ์ในเชิงบวก แต่ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ROE จะไม่ถึงระดับเป้าหมายในอีกหลายปีอันใกล้นี้ โดยมีตัวแปรที่สำคัญในปีนี้ คือ ผลประกอบการ เหตุการณ์โลก แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคในประเทศ และการเมือง โดยฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าแนวโน้มจะค่อนข้างอ่อนแอในไตรมาสแรกของปีนี้ และจะคงที่ตลอดทั้งปี
ขณะที่ ในมุมมองระยะกลางฝ่านักวิเคราะห์ KKPS ระบุว่าผลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า กำไรของบริษัทในไทยนั้นถูกกดดันจากปัจจัยเชิงวัฏจักร และการที่ ROE กลับมาสู่ระดับปกติได้จะช่วยเร่งการเติบโตให้กลับคืนมาได้
นอกจากนี้ฝ่ายนักวิเคราะห์ KKPS มองว่าต้นทุนทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับสู่ระดับเฉลี่ยเหมือนเช่นที่เคยเป็นในก่อนหน้านี้ โดยในปี 66-67 ต้นทุนทางการเงินพุ่งสูงที่สุดตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินโลกหากไม่นับปี 63 ซึ่งการทรุดตัวของ EBT (ค่าใช้จ่ายภาษี) ได้เพิ่มภาระดอกเบี้ยเป็นอย่างมาก
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงที่สุดในรอบ 25 ปี หากไม่รวมวิกฤตการณ์การเงินโลก ฝ่ายวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่าจะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยโลกและไทยได้เปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างถาวรจากช่วงปี 52-64 ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ ฝ่ายวิเคราะห์จึงไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ซึ่งในด้านภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีนั้น KKPS ระบุว่า ฝ่ายวิเคราะห์ติดตามอย่างระมัดระวังถึงความเป็นไปได้ในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆในด้านภาระทางภาษี