RICHY ต่อลมหายใจ.!
ด้วยภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ฯ แม้จะเห็นการฟื้นตัวในบางเซกเตอร์ แต่โดยภาพรวมยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-ล่าง จะเหนื่อยหน่อย
ด้วยภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ฯ แม้จะเห็นการฟื้นตัวในบางเซกเตอร์ แต่โดยภาพรวมยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง-ล่าง จะเหนื่อยหน่อย ไม่ใช่ว่าดีมานด์หรือความต้องการไม่มี แต่อุปสรรคมันเยอะ โดยเฉพาะการที่แบงก์ชะลอการปล่อยกู้ ส่งผลให้มียอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งปรี๊ดดดเกิน 50% เลยทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นยาก…
ในขณะที่โครงการต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หลักร้อยล้านไปจนถึงหลายหมื่นล้านบาท ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว แถมดอกเบี้ยก็วิ่งทุกวัน เป็นต้นทุนที่บริษัทต้องแบกเอาไว้ แต่กระแสเงินสดไม่เข้า เพราะขายบ้าน ขายคอนโดฯ ไม่ได้ ยอดโอนไม่เข้าเป้า สต๊อกเหลือบานเบอะ ทำให้หลาย ๆ บริษัทเริ่มประสบปัญหากระแสเงินสดร่อยหรอ กระทบต่อสภาพคล่อง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากประเด็นข้างต้นทำให้รายได้และยอดขาย RICHY ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้โจทย์แรกที่ต้องแก้คือ ต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่จะครบดีลในปีนี้และปีหน้า ซึ่งมี 6 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ หุ้นกู้รุ่น RICHY255A วงเงิน 180 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 10 พ.ค. 2568, หุ้นกู้รุ่น RICHY253A วงเงิน 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 มี.ค. 2568,
หุ้นกู้รุ่น RICHY255B วงเงิน 267.80 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 12 พ.ค. 2568, หุ้นกู้รุ่น RICHY259A วงเงิน 275.20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.0% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 29 ก.ย. 2568, หุ้นกู้รุ่น RICHY263A วงเงิน 537 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.1% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 13 มี.ค. 2569 และหุ้นกู้รุ่น RICHY268A วงเงิน 150.80 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.2% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 7 ส.ค. 2569
เมื่อมีหุ้นกู้ที่จะครบดีลอย่างนี้ เลยเป็นที่มาให้ต้องขอยืดอายุหุ้นกู้ทั้ง 6 รุ่น ออกไปอีก 2 ปี และขอแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้เป็นรายงวด งวดละ 3% ของมูลค่าหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน โดยกำหนดชำระทุก 6 เดือน แลกกับการปรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ทั้ง 6 รุ่น ในอัตรา 0.10% ต่อปี…
การเลื่อนหุ้นกู้ทั้ง 6 รุ่นครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการขอต่อลมหายใจของ RICHY..!? เพราะหากครบกำหนด อาจไถ่ถอนไม่ได้ เลยต้องขอเลื่อนไปก่อน อย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 0.10% ต่อปีปลอบใจ…ซึ่งวันที่ 17 ม.ค. 2568 นี้ ต้องวัดใจผู้ถือหุ้นกู้ จะไฟเขียวให้เลื่อนหรือเปล่า..??
กรณีดีสุด ไฟเขียวให้เลื่อนทุกรุ่นตามข้อเสนอ การผิดนัดชำระหุ้นกู้ก็หมดห่วง RICHY จะได้มีเวลาไปคิดหาแนวทางการสร้างกระแสเงินสดเข้ามา…หรือถ้าให้เลื่อนแค่บางรุ่นที่ใกล้จะครบกำหนด ก็ยังดี ส่วนกรณีเลวร้ายสุดไม่ให้เลื่อนสักรุ่น จะมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ…ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นกู้จะพิจารณาอย่างไร..??
แต่ถ้าดูสถานะการเงินของ RICHY ในตอนนี้ บอกได้คำเดียวว่าน่าห่วงสุด ๆ เนื่องจากมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 เพียงแค่ 9.8 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ตัวเลขสำคัญทางการเงินอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยสู้ดี มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 1.52 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 1.47 เท่า ถือว่าแย่ลง ส่วนอัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 9 เดือนปี 2567 เท่ากับ 0 เท่า ลดลงจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 0.84 เท่า แย่ลงมาก
ด้านอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current ratio) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 2.07 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 2.02 เท่า ถือว่าทรงตัว และมีอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว (Quick ratio) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 0.03 เท่า ลดจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 0.18 เท่า ซึ่งแย่ลงมาก ขณะที่มีวงจรเงินสด (cash cycle) 9 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 4,743.55 วัน ดีขึ้นจาก 9 เดือนปี 2566 ที่ 4,928.91 วัน และดีขึ้นเมื่อเทียบกับทั้งปี 2566 ที่ 4,968.02 วัน แต่แย่ลงเมื่อเทียบกับทั้งปี 2565 ที่ 4,089.61 วัน
จากสถานการณ์ที่ง่อนแง่นของ RICHY ทำให้ก.ล.ต.ต้องออกโรงเตือนผู้ถือหุ้นกู้ให้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมกำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ ให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบโดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย
เอาเป็นว่า RICHY จะรอดหรือร่วง วันที่ 17 ม.ค.นี้ คงได้รู้กัน..!?
…อิ อิ อิ…