KTC โชว์กำไรปี 67 แตะ 7.4 พันล้าน รับพอร์ตบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลโต

KTC โชว์กำไรปี 67 แตะ 7.43 พันล้าน รับพอร์ตบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลโต ควบคู่พัฒนาบุคลากรทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หนุนพอร์ตสินเชื่อรวมแตะ 1.11 แสนล้านบาท ด้าน NPL อยู่ที่ 1.95% ส่วน


นางพิทยา วรปัญญาสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมว่า “แม้ว่าภาพรวมธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคจะชะลอตัวลง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การดำเนินธุรกิจของเคทีซีในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566

โดยสัดส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 13.0% เพิ่มขึ้นจาก 12.1% ในขณะที่สัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 15.0% จาก 14.7% และสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6.6% จาก 6.3%”

“เคทีซีและกลุ่มบริษัทยังคงสร้างผลกำไรในปี 2567 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 111,162 ล้านบาท ลดลง 1.1% ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังคงเน้นการเติบโตมูลค่าพอร์ตควบคู่ไปกับการคัดกรองคุณภาพภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตหดตัว 0.7% เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่มีส่วนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ 1.1% จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” สำหรับ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 1.95% บรรลุตามกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ ≤ 2% อัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 อยู่ที่ 10.1% โตกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นผลจากการจัดกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการสมาชิก” นางพิทยา กล่าว

ขณะที่ บริษัทมีฐานสมาชิกรวม 3,488,156 บัญชี โดยแบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,799,301 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 73,954 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2567 เท่ากับ 292,146 ล้านบาท NPL Ratio บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.25% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลรวม 688,855 บัญชี คิดเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และดอกเบี้ยค้างรับรวม 35,096 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งเป็นยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,015 ล้านบาท NPL Ratio สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.46%  สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 2,112 ล้านบาท โดยเคทีซีได้หยุดการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่

ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเคทีซีสำหรับปี 2567 มีรายได้รวมเท่ากับ 27,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.0% จากปี 2566 จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม รวมถึงหนี้สูญได้รับคืนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 18,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% จากค่าใช้จ่ายในการบริหาร โดยหลักๆ เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจ่ายที่สูงขึ้นตามปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 14.7% จากปี 2566 เป็นผลจากการตัดหนี้สูญที่เร็วขึ้นตามนโยบายการตัดหนี้สูญใหม่ และการตั้งสำรองสูงขึ้นตามหลักความระมัดระวัง นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จาก 2.6% ในปี 2566 เนื่องจากมีหุ้นกู้บางส่วนครบกำหนดและ  เคทีซีมีการออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นกว่าในอดีต เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อสำหรับปี 2567 อยู่ที่ 14.5% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 14.8% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปี 2567 เท่ากับ 12.9% ลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 13.2%

ในส่วนของแหล่งเงินทุน ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 62,336 ล้านบาท (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) แบ่งสัดส่วนโครงสร้างแหล่งเงินทุนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) 37% และเงินกู้ยืมระยะยาว 63% โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารกรุงไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 5,119 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่น 5,000 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย 9,500 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 42,290 ล้านบาท อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.78 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.15 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เท่า

นอกจากนี้ เคทีซียังคงมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ตามประกาศของ ธปท. ที่  สกช. 7/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) โดยบริษัทจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.ktc.co.th/about/news/meaure

สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ( Severe Persistent Debt: SPD) ตลอดปี 2567 คิดเป็นช่วงเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เกณฑ์ SPD มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 และในเดือนสิงหาคม 2567 ธปท.ได้ออกข่าวว่า จะมีการขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายในระยะเวลา 5 ปี เป็น 7 ปี เพื่อลดภาระค่างวดต่อเดือน ทั้งนี้ ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อสรุปรายละเอียดเงื่อนไข  โดยในปี 2567     เคทีซีมีลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ คิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริงลดลงไปประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน โดยคำนวณจากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์และเข้าร่วมโครงการ

เนื่องจากเคทีซีเป็นผู้ประกอบธุรกิจ Non-Bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยสมาชิกสามารถลงทะเบียนผ่าน  www.bot.or.th/khunsoo  ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 – 28 กุมภาพันธ์ 2568  นอกจากนี้ สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซียังมีสิทธิ์ร่วมมาตรการลดภาระทางการเงิน

โดยการรับเครดิตดอกเบี้ยคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตของลูกหนี้ สำหรับสมาชิกบัตรที่ชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% ของยอดเงินที่เรียกเก็บภายในวันครบกำหนดชำระตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลาของมาตรการฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568  – 31 ธันวาคม 2568 โดยสามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการนี้ผ่านลิงค์  www.ktc.co.th/financial-relief-credit

นางพิทยากล่าวว่า การดำเนินความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการต่างๆ ข้างต้น เคทีซีพิจารณาแล้วคาดว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในภาพรวม สำหรับปี 2568 เคทีซีตั้งเป้ายกระดับองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนกลยุทธ์ “Building a Sustainable Future Through Digital Transformation” ด้วยการเสริมประสิทธิภาพระบบไอทีและโครงสร้างการทำงานเชิงลึกระหว่างคนกับเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการบริหารพอร์ตสินเชื่อรวมให้เติบโต ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ใน 3 ธุรกิจหลักคือ

บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะยังเห็นโอกาสเติบโตจากความต้องการสินเชื่อแต่ละประเภทของผู้บริโภค และที่สำคัญคือการดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง บริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อคุณภาพให้ขยายตัวมากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างเหมาะสม โดยเคทีซีคาดว่าในปี 2568 ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตประมาณ 4-5% พอร์ตสินเชื่อ  “เคทีซี พราว” เติบโต 3% มูลค่าสินเชื่อใหม่ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เคทีซีเชื่อว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

Back to top button