ดีอี ประชุมรัฐมนตรี “ไทย-จีน” ครั้งที่ 2 ยกระดับการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล”ร่วมกัน
ดีอี ประชุมรัฐมนตรี “ไทย-จีน” ด้านดิจิทัล ครั้งที่ 2 ปูทางความร่วมมือยกระดับการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” ระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้า
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมด้วย H.E. Mr. Zhang YunMing, Vice Minister of Industry and Information Technology (MIIT) สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีไทย-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัล (The 2nd Thai–China Ministerial Dialogue on Digital Economy Cooperation) ครั้งที่ 2 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศ. (พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คณะผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ วานนี้ (วันที่ 18 ม.ค. 2568)
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบาย และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทย – จีนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้า และยึดประโยชน์ในรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้รับ
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า การประชุมปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดีเพราะเป็นปีเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้
ทั้งสองประเทศร่วมประกาศให้ปี 2568 เป็นปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต หรือ Golden Year of Friendship โดยไทยพร้อมร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และร่วมกันแก้ปัญหาในภูมิภาค สร้างประชาคมที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
“การประชุมวันนี้มีการหารือประเด็นสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 และมีการหารือประเด็นเพิ่มเติมคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์และการต่อต้านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมาตรการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยต่อประเด็นดังกล่าวได้ เพราะการหลอกลวงออนไลน์และปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นความร่วมมือที่มีความสำคัญ ทั้งหมดเพื่อพัฒนาให้ประชาชนสามารถรู้เท่าทันอาชญากรรมออนไลน์ และทักษะที่จำเป็นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทั้งสองฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันในวาระถัดไป” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐมนตรี MIIT ของจีนได้นำภาคเอกชนจีนที่ดำเนินกิจการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมคณะเยือนไทยพร้อมกัน จำนวน 21 บริษัท ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ รวมถึงข้อเสนอกิจกรรมหรือโครงการความร่วมมือระหว่างกันในการประชุม Thailand – China Public and Private Sectors Joint Business Dialogues เพื่อแสวงหาและส่งเสริมความร่วมมือ อีกทั้งยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนระหว่างภาคเอกชนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับภาคเอกชนของจีนที่ดำเนินงานต่อเนื่องในหลากหลายโครงการ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรม Software, Hardware and Smart Devices, Digital Content และ Digital Services ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน การผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นถึง 15% หรือกว่า 1.5 ล้านล้านหยวน รวมถึงการพัฒนา ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจีนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลเข้าสู่การจัดจ้างภาครัฐ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมสามารถเลือกใช้งานได้อย่างมั่นใจ
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ความร่วมมือกับจีนจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศในหลายด้าน อาทิ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่รัฐบาลมีโครงการที่จาส่งเสริมการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลสำหรับคนไทยรุ่นใหม่ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลจากต่างประเทศ หรือความร่วมมือในโครงการในความรับผิดชอบของ ดีป้า ที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น โครงการ OTOD หรือ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้และซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โครงการพัฒนา 5G Ambulance ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับ ZTE และ หัวเว่ย รวมไปถึงโอกาสความร่วมมือครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเข้าเยี่ยมชมโครงการ Thailand Digital Valley ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 19 ม.ค.)
“ภาพรวมการหารือในวันนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจีนแสดงความกระตือรือล้นที่จะการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับฝ่ายไทย อีกทั้งมีความสนใจที่จะลงทุนและทำธุรกิจร่วมกับไทย เมื่อพิจารณาความพร้อมด้านดิจิทัล ข้อเสนอและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน และความเป็นไปได้ในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว