โครงการซื้อหุ้นคืน หนึ่งปัจจัยบวกที่จะฟื้นตลาดหุ้นไทย
โครงการซื้อหุ้นคืน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ดี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถช่วยบริหารเงินสดที่เหลือในบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ดี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถช่วยบริหารเงินสดที่เหลือในบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยังช่วยแก้ปัญหาวิกฤติศรัทธาที่เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ในช่วงที่ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่าแวลู หรือ มูลค่าความเป็นจริง
โดยประโยชน์ของการทำโครงการ Treasury Stock จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้น และอาจจะมีแรงดัน ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีดีมานด์เพิ่มขึ้น
รวมถึง ยังลดปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด และส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้น
แถมยังเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Capital Management หากผู้บริหารของบริษัทมั่นใจในผลการดำเนินงาน และเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ การซื้อหุ้นคืนและขายกลับในจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับส่วนของผู้ถือหุ้น และอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE)
แต่หลักสำคัญที่ควรนำมาประเมินประกอบว่าบริษัทจดทะเบียน ที่ซื้อหุ้นคืนรายนั้น มีความสมเหตุสมผลจริง ตามวัตถุประสงค์ของการซื้อหุ้นคืน หรือไม่
โดยผู้ลงทุนรายย่อย สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมิน ว่าบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่จะมีความประสบความสำเร็จในระยะยาว ภายหลังจากที่ การซื้อหุ้นคืน จบลงหรือไม่ ดังนี้
1.ควรตรวจสอบ ภาระหนี้สินของบริษัท ว่ามีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงกว่าอุตสาหกรรมหรือไม่
เนื่องจาก ภาระหนี้สิน กับ ต้นทุนทางการเงิน ที่อยู่ในรูปของดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน หรือ หุ้นกู้ นั้น บ่งบอกถึงเสถียรภาพ และ อนาคตของบริษัท
หากบริษัทที่มีหนี้สินเยอะ ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำเงินไปคืนหนี้ หรือเคลียร์บาลานซ์ชีท ก่อน เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน
ยังไม่ควรเอาเงินสดไปซื้อหุ้นคืน เพราะต่อให้ราคาหุ้นถูกแค่ไหน หนี้ยังบานเบอะ ต้นทุนทางการเงินสูง ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ “โครงการซื้อหุ้นคืน” จะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว
2.เปรียบเทียบ การซื้อหุ้นคืน กับ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield)
ยกตัวอย่าง หากบริษัท นำเงินสด 1 พันล้านบาท มาซื้อหุ้นคืนทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น 8% ย่อมดีกว่า นำเงินสด 1 พันล้านบาท มาจ่ายปันผล 8% เพราะความมั่นคงหากมีการลดทุนในส่วนของหุ้นที่ซื้อคืนมา ก็สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับ EPS ได้ ประกอบกับการจ่ายปันผลต้องจ่ายภาษี
ทั้งนี้ การซื้อหุ้นคืน ที่มีประสิทธิภาพ มีเงื่อนไขที่ว่า จะต้องนำหุ้นที่ซื้อมาทั้งหมดไปลดทุนจดทะเบียน หากนำมาขายคืนในกระดาน จะไม่นับว่าได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว
3.เปรียบเทียบ การซื้อหุ้นคืน กับ การนำเงินจำนวนดังกล่าวไปขยายการลงทุน ส่วนใดจะส่งผลต่อการเพิ่มของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มากกว่ากัน
ในช่วงที่ภาพรวมของดัชนีตลาดหุ้นยังไม่ฟื้นตัวมากเท่าไหร่ การซื้อหุ้นคืน สมมติหากถัวเฉลี่ยต้นทุนที่ซื้อมาอยู่ที่ 10 บาท อนาคตหากต้องการจะขายคืนในกระดาน ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอีก ก็จะทำให้บริษัทนั้นขาดทุน หากต้องการใช้เงินสดขยายกิจการ
ทั้งนี้ ถือเป็นความเสี่ยงมาก ที่บริษัทจะคาดหวัง ส่วนต่างกำไร (Capital gains) จากการขายหุ้นคืน จาก Treasury Stock ในกระดาน
อย่างไรก็ตาม แม้การถือเงินสด ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า และสามารถมีโอกาส เมื่อจังหวะการลงทุนอื่น ๆ ที่ดีเข้ามา อย่างเห็นได้ชัด แต่ในเมื่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว การนำเงินสดไปลงทุนอาจจะมีความเสี่ยงกว่า การซื้อหุ้นคืน และนำไปลดทุน
เหตุผลที่ต้องใช้หลัก 3 ข้อนี้ เพราะที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่เปิดโครงการซื้อหุ้นคืนแล้ว ราคาหุ้นไม่ได้ตอบสนองในเชิงบวกระยะยาวแต่อย่างใด มีแต่เพียงช่วงสั้น ๆ ระหว่างที่ซื้อหุ้นคืนเท่านั้นที่ราคาหุ้นจะมี วอลุ่มและมีเสถียรภาพ
โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนที่มีความพร้อมในการทำโครงการซื้อหุ้นคืน หรือ Treasury Stock เพื่อทำให้ราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชี (BV) ใกล้เคียงกัน
สำหรับรายชื่อ บจ.ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า BV มีดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 0.53 เท่า, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มี P/BV อยู่ที่ 0.70 เท่า, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มี P/BV อยู่ที่ 0.86 เท่า
อึ้งย้ง