พาราสาวะถี อรชุน

สมกับเป็น”เนติกร”ประจำ คสช.และรัฐบาลจริงๆ เมื่อถอดรากความคิดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในนามหัวหน้าทีม กรธ.จากกรณีเลือกตั้งบัตรใบเดียวหรือระบบจัดสรรปันส่วนผสมให้ทุกคะแนนเสียงของคนเลือกตั้งมีความหมาย มาผนวกเข้ากับความคิดของ วิษณุ เครืองาม ที่จะหยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมาปรับแก้ถ้าประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบแพ้ชนะกันไม่เกิน 1 ล้านเสียง


สมกับเป็น”เนติกร”ประจำ คสช.และรัฐบาลจริงๆ เมื่อถอดรากความคิดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในนามหัวหน้าทีม กรธ.จากกรณีเลือกตั้งบัตรใบเดียวหรือระบบจัดสรรปันส่วนผสมให้ทุกคะแนนเสียงของคนเลือกตั้งมีความหมาย มาผนวกเข้ากับความคิดของ วิษณุ เครืองาม ที่จะหยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมาปรับแก้ถ้าประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบแพ้ชนะกันไม่เกิน 1 ล้านเสียง

คนหนึ่งบอกให้ทุกคะแนนเสียงมีความสำคัญโดยไม่คำนึงถึงการแพ้-ชนะในระบบเลือกตั้ง อีกคนก็ตะแบงแถกันไปที่จะให้คะแนนเสียงแพ้น้อยกลายเป็นฝ่ายชนะ นี่หรือหลักการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่สากลยอมรับตามความต้องการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ช่วงของการเปิดรับฟังความคิดเห็นใครที่แสดงความเห็นต่างก็ถูกยัดเยียดว่า”บิดเบือน”ร่างรัฐธรรมนูญ

สรุปแล้วถ้าจะยึดกันตามแนวทางตามใจฉันก็น่าจะชงให้บิ๊กตู่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดการทุกอย่างเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยดีกว่า ไม่ต้องไปสนใจว่าจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมใดๆ ซึ่งน่าสนใจต่อความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ตั้งข้อกังขาต่อผู้มีอำนาจในการใช้คำว่าบิดเบือนมาปิดหูปิดตาประชาชน สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายการเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามคณะรัฐประหารขยับตัวนิดเดียวก็เป็นต้องมีปัญหาทันที

วันนี้กลายเป็นว่า แทนที่จะได้ฟังโฆษก กรธ.ชี้แจงแถลงไขเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงอธิบายส่วนที่หลายฝ่ายเกิดคำถาม ภาระหน้าที่ดังกล่าวกลับไปตกอยู่ที่ทีมโฆษก คสช.รวมไปถึงผู้จัดรายการของสถานีวิทยุในเครือข่ายกองทัพบกเสียฉิบ ซึ่งได้ย้ำมาโดยตลอดว่าให้ทหารมาอธิบายเรื่องประชาธิปไตยความเชื่อถือเชื่อมั่นมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ย้อนกลับไปยังความไม่สบายใจของจาตุรนต์ ที่ระบายความอึดอัดผ่านตัวอักษร ต่อคำถามว่าคำว่าบิดเบือนแปลว่าอะไร บิดเบือนของผู้มีอำนาจแปลว่าเห็นต่างหรือเปล่า ก่อนจะอธิบายต่อว่า ถ้าใครบอกร่างรัฐธรรมนูญนี้มีแค่ 50 มาตราจึงมีเนื้อหาน้อยไปหรือบอกว่าไม่ชอบเพราะกำหนดให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งอย่างนี้น่าจะเรียกได้ว่าบิดเบือน

แต่หากเป็นความเห็นต่อไปนี้เรียกว่าบิดเบือนหรือไม่ ร่างนี้ไม่ดีเพราะทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชนชาวไทยเปิดช่องให้นายกฯมาจากคนนอก ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพไม่อาจถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงไม่เป็นประชาธิปไตย องค์กรอิสระและโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากเกินไป ระบบเลือกตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากและเป็นประโยชน์ต่อพรรคขนาดกลางให้โทษต่อพรรคเล็ก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีนโยบายตอบสนองประชาชน จะเกิดการหักล้างการตัดสินของประชาชนโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้คนนอกเป็นนายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ร่างนี้จะนำสังคมไทยไปสู่วิกฤตที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น และมีการปิดทางแก้เหมือนร่างไว้ให้ฉีกเท่านั้น

ประเด็นทั้ง 10 ข้อที่ยกมาเป็นตัวอย่างถือว่าบิดเบือนหรือไม่ ถ้าถือว่าบิดเบือน คนที่จะถูกเอาผิดหรือเรียกไปปรับทัศนคติคงมีมากจนนับไม่ถ้วน ขณะเดียวกันจะพบว่าฝ่ายที่คอยพูดสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ดูจะน้อยลงเรื่อยๆและไม่มีมุมมาอธิบาย จะชี้แจงอะไรก็ฟังไม่ค่อยขึ้น คนค้านจึงยิ่งมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าฝ่ายผู้ร่างและผู้มีอำนาจใกล้จะเข้าตาจนเต็มที

ทว่าในมุมของผู้มีอำนาจเด็ดขาด ไม่น่าจะคิดอย่างนั้น เพราะย่อมวางทางถอยไว้หลายชั้น ยิ่งจับอาการของฝ่ายสนับสนุนที่ได้ดิบได้ดีมาจากการลากตั้ง ยิ่งจะเห็นท่วงทำนองที่น่าสนใจ กรณี เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. และ วันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท.ประสานเสียงสร้างพลังต่อรอง ให้วุฒิสภามาจากการสรรหาทั้งหมด 200 คน เท่ากับเปิดพื้นที่อำนาจให้อดีตข้าราชการแก่ อดีตทหารและอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. กลับมามีอำนาจได้ง่ายขึ้น

ท่วงทำนองของอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ซ่อนตัวอยู่ใน สนช. คงไม่ต้องวิเคราะห์หรือตีความให้ยุ่งยาก เพราะชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจให้ยืนยาวต่อไป ประกอบกับมาตรา 255 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ก็เปิดช่องให้กลับเข้ามาเป็นวุฒิสภาได้ โดยอดีต ส.ว.กลุ่มนี้ก่อเกิดและเติบโตมาด้วยการเชียร์คณะทหาร แล้วสร้างให้เป็นกลุ่มพลังอำนาจทางการเมืองของทหารผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วสืบทอดอำนาจมายาวนานจนถึงปัจจุบันร่วม 10 ปี

ลูกล่อลูกชนของอดีต ส.ว.กลุ่มนี้ไม่ธรรมดา การสืบทอดอำนาจนั้นมีทั้งอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญเพื่อดำรงอยู่ โดยบางรายลาออกจาก ส.ว.สมัยแรกเพื่อหลุดพ้นข้อห้ามรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็น 2 สมัยติดต่อกัน ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งภายใต้ระบบสรรหา จน คสช.ยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ยังมีคนกลุ่มนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็น สนช.และ สปช.ที่ถูกยุบไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

แกนนำคนสำคัญๆของกลุ่ม 40 ส.ว. ไม่ว่าจะเป็น สมชาย แสวงการ ประสาร มฤคพิทักษ์ คำนูณ สิทธิสมาน ไพบูลย์ นิติตะวัน และเจตน์ ล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนในงานการเมือง เพื่อสนองตอบต่องานต่างๆที่คณะทหารยึดอำนาจต้องการใช้ให้เป็นมือไม้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ดังนั้น การออกมาส่งสัญญาณให้ คสช.ลากตั้ง 200 ส.ว.นั้นจึงไม่ธรรมดา

คงมีคนงงกันทั้งประเทศหลังจากได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ จิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่บอกว่าตัวโครงการนั้นไม่เสียหาย แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความผิดในพฤติการณ์ จึงต้องเดินหน้าเอาผิดเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งคงต้องให้นักกฎหมายทั้งหลายช่วยอธิบาย เมื่อบอกว่าโครงการไม่เสียหายแล้วจะให้รับผิดชอบอย่างไร

เมื่อรวมเข้ากับบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ยืนยันว่าข้าวในโครงการรับจำนำจำนวน 3.9 แสนตันไม่ได้หาย แต่น่าจะเป็นการลงบัญชีที่ผิดพลาด ยิ่งนานวันยิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากลมากยิ่งขึ้น การพยายามจะทำให้โครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงเกิดคำถามว่าเพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือเพียงเพื่อหาเหตุสร้างความชอบธรรมให้กับคณะยึดอำนาจเท่านั้น

Back to top button