“ดีอี” สั่งเข้มผู้ขาย “มือถือ” ทุกค่าย ห้ามติดตั้งแอปฯ ผิดกฎหมาย-ละเมิดข้อมูลปชช.

รองนายกฯ ประเสริฐ สั่งใช้กฎหมาย ห้ามบริษัทผู้จำหน่าย-บริการมือถือ แท็บเล็ท ติดตั้งแอปฯ ผิดกฎหมาย มาพร้อมเครื่อง หวั่นละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (20 ม.ค.68) นายเวทางค์  พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและป้องกันไม่ให้โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ท มีการลงแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย หรือ มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อมือถือ

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี และ สคส. จึงได้เชิญบริษัทผู้จำหน่าย และให้บริการเกี่ยวกับมือถือทุกยี่ห้อ รวม 28 บริษัท พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานกำกับดูแล อาทิ สำนักงานคณะกรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.), สภาองค์กรของผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (สคป.) เพื่อเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนผู้ใช้มือถืออย่างเคร่งครัด และชี้แจงกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนสรุปแนวทางป้องกันไม่ให้มือถือ และแท็บเล็ตที่วางจำหน่าย มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือมีแอปฯที่ผิดกฎหมายติดมาพร้อมกับตัวเครื่องในที่ประชุม หน่วยงานกำกับดูแล ได้ให้ข้อมูล เรื่องกฎหมายและโทษที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อสรุปได้ดังนี้

สำหรับกฏหมายและบทลงโทษสำหรับผู้ขายมือถือและแท็บเล็ต หรือ การลง แอปฯ สรุปได้ดังนี้

  1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

– กรณีไม่แจ้ง Privacy notice ผิด ม.23 (ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท)

– กรณีเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมอาจผิด ม.24 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยไม่ได้รับคำยินยอม(ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)

– กรณีไม่ลบ อาจผิด ม.21 เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย แตกต่างจากวัตถุประสงค์ (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)

– กรณีเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ อาจเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเกินความจำเป็น ม.22 (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)

– กรณีมีการส่งโฆษณาเข้ามาอาจผิด ม.27 ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับคำยินยอม (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)

– กรณีผู้ควบคุมอยู่นอกราชอาณาจักรต้องแต่งตั้งตัวแทนผู้ควบคุมข้อมูลในราชอาณาจักร ม.37(5) (ปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท)

  1. กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

– กรณีติดตั้งแอปฯ เพื่อยิงโฆษณา อาจเป็นความผิดฐานเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งสแปม(พรบ.คอม ม.11 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท)

– กรณีติดตั้งแอปฯ ซึ่งมี virus malware อาจเป็นความผิดฐานเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ ม.13 จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท)

– กรณีหลอกลวง บิดเบือน หรือนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผ่านแอปฯ (พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท)

  1. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

– ไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.39)

– ไม่ได้ทำสัญญาการกู้ยืม ไม่ได้ให้สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาหรือการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอาเปรียบ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.35 ทวิ ม.35 เบญจ ม.35 อัฏฐ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท)

– การแจ้งความ กองบังคับการการกระทำความผิดการคุ้มครองผู้บริโภค

–  กรณีที่มีการกู้ยืมโดยไม่ทำสัญญาอาจมีความผิด

  1. กฎหมายเกี่ยวกับบริการทางการเงิน การคิดดอกเบี้ย

– ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต (ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5(7) และข้อ 16 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท)

– การคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา 15% (พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ม.4(1) จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท)

– พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ กรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่ 2 แสนบาท

สำหรับ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หรือผู้ซื้อมือถือและแท็บเล็ต สรุปได้ดังนี้

  1. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

– เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เห็นว่าแอปฯ มีการเก็บรวบรวมใช้และเปิดเผยข้อมูล ผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน มีสิทธิ์ให้ผู้จำหน่ายโทรศัพท์ลบแอปฯ ที่ไม่ต้องการออกไปจากเครื่องได้ (ม.33)

– กรณีเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้คำยินยอมในแอปฯ ไปแล้ว มีสิทธิ์ถอนคำยินยอมในแอปฯได้ (ม.19)

– กรณีละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหนทดแทนได้เป็น 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง (ม.77, ม.78)

– กรณีผู้จำหน่ายหรือ ผู้ควบคุมดูแลแอปฯ แล้วแต่กรณี ไม่สามารถตอบสนองต่อสิทธิ์นั้นได้ เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิ์ร้องเรียนต่อ สคส. เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเยียวยาและพิจารณา โทษทางปกครองได้ (ม.73)

  1. กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

– มาตรการเยียวยาความเสียหายทางแพ่งแก่ผู้บริโภค (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม.39)

  1. กฎหมายเกี่ยวกับบริการทางการเงิน การคิดดอกเบี้ย

– สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยหากได้รับความเสียหาย

– สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการทวงหนี้

นอกจากนี้ หน่วยงานได้รายงานเรื่องผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องเข้าร้องเรียนหรือขอใช้สิทธิ ถึงวันที่ 20 มกราคม 2568 ดังนี้

– มีผู้ติดต่อสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้สิทธิด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมือถือ จำนวน 11 ราย

– มีผู้ติดต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร้องเรียนเรื่องมือถือจำนวน 17 ราย

– สำหรับผู้เสียหายจากการใช้บริการด้านสินเชื่อ สภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างการประสานงานและรับเรื่องเพื่อพาผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการการกระทำความผิดการคุ้มครองผู้บริโภค (สคป.) ต่อไป

สำหรับการติดต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

– สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โทร 02 1118800

– ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร 1213

– สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทร 1166

– การแจ้งความ กองบังคับการการกระทำความผิดการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) 02 191 9191

Back to top button