ค่าโง่ของกระต่ายตื่นตูมพลวัต 2016
การขายแบบเทกระจาด หรือ panic selling ของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปี พักชั่วคราวระยะหนึ่ง แล้ว มารุนแรงอีกครั้งหลังตรุษจีน ทำให้เมื่อวานนี้ และอาจจะลามถึงวันนี้ ครอบงำ ตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ และ ค่าดอลลาร์ทั่วโลกอย่างหนัก สวนทางกับราคาทองคำ และค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่เทียบกับค่าดอลลาร์
วิษณุ โชลิตกุล
การขายแบบเทกระจาด หรือ panic selling ของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปี พักชั่วคราวระยะหนึ่ง แล้ว มารุนแรงอีกครั้งหลังตรุษจีน ทำให้เมื่อวานนี้ และอาจจะลามถึงวันนี้ ครอบงำ ตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ และ ค่าดอลลาร์ทั่วโลกอย่างหนัก สวนทางกับราคาทองคำ และค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่เทียบกับค่าดอลลาร์
การขายอย่างหนัก เข้าข่ายกระต่ายตื่นตูม แบบนิทานอีสปในอดีต มีเหตุผลง่ายๆ รองรับ เพราะยามนี้ ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก มีการแข่งขันกันผลิตข่าวร้ายท่วมตลาด จนกระทั่งความสนใจในเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ถูกลดความสำคัญลงไป
นักลงทุนระดับวีไอจำนวนมาก พากันขาดทุนยับ ขณะที่กองทุนต่างๆ ก็พากันถือคติ “โชคดีที่ตายก่อน” เร่งขายมือเป็นระวิงแบบ short against portfolio เป็นกระแส ในขณะที่รายย่อยหน้าตักต่ำ ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องทำแบบเดียวกัน เพราะการลงทุนแบบ “ชาวสวน” ยามนี้ล้มเหลว เนื่องจาก “ที่ว่าถูกแล้ว ยังมีถูกกว่า” เสมอ
ผู้รู้(จอมปลอม)บางคนบอกว่า การแกว่งตัวขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนของตลาดเก็งกำไร คือ การส่งสัญญาณผิดพลาดจากมายาคติของตลาดเรื่องจากข่าวโคมลอยของรัสเซียและโอเปกจะเจรจาเรื่องน้ำมัน แต่นั่นก็เป็นข้อสรุปแบบ “หาแพะ” ที่ง่ายเกินไป
ความปั่นป่วนล่าสุดของตลาดหุ้นรอบล่าสุดที่เริ่มสัปดาห์นี้ ค่อนข้างลึกซึ้งเกินกว่าปกติ เพราะโยงใยเข้ากับปัญหาความเสี่ยงของสินเชื่อในระบบธนาคารขนาดใหญ่ โยงกับสินทรัพย์ที่เรียกว่า CoCo Bond (ชื่อเต็มคือ Contingent Convertible Bond) ซึ่งหมายถึงตราสารหนี้แปลงสภาพที่เปลี่ยนมือได้ ซึ่งได้รับความนิยมในยุโรปมาหลายปีในช่วงวิกฤตการเงินรอบล่าสุด
ตราสารหนี้ดังกล่าว แม้จะออกมามีคุณสมบัติป้องกันความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่เมื่อถึงเวลา ก็สามารถแปลงเป็นความเสี่ย่งที่มากกว่าปกติได้เช่นกัน แบบที่เคยเกิดกับตราสารอนุพัน์ธ์ในวิกฤติซับไพรม์ของสหรัฐฯ เมื่อ 7 ปี่ก่อน
สถาบันการเงินจำนวนมากที่เคยออกตราสารหนี้ดังกล่าวถูกข่าวลือว่าอาจไม่มีความสามารถในการชำระเมื่อถึงเวลาไถ่ถอน หรือจะไม่มีผู้ถือยอมแปลงสภาพ ทำให้มีคนขายหุ้นธนาคารออกมา เริ่มตั้งแต่ Deutsche Bank ของเยอรมัน (ถึงขั้นมีคำถามน่าหัวร่อว่าจะกลายเป็นเหมือน Lehman Brothers เมื่อปี 2007 มั้ย) ตามมาด้วยธนาคารข้ามชาติหลายแห่งทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ในเยอรมนีที่มีการทำธุรกรรมร่วมกับจีนในฐานะคู่ค้าใหญ่ก็ปรากฏว่ามีข่าวลือเช่นกันว่า การที่จีนมีเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะทำให้ธุรกิจย่ำแย่ไปด้วยในปีนี้
ข่าวลือและความเชื่อดังกล่าว แพร่กระจายยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ทำให้การขายแบบเทกระจาดชนิดที่ยากจะระงับได้
คำถามคือ การขายแบบกระต่ายตื่นตูมดังกล่าว ล้วนเกิดจาก “มุมมองวิบัติ” (dystopia) คล้ายกับที่ ชาร์ลส แมคเคย์ เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่อง The Madness of Crowd เมื่อสองร้อยปีก่อน) เป็นการจ่ายค่าโง่ที่แพงกว่าปกติหรือไม่ เพราะหากพิจารณารากฐานของความปั่นป่วนของตลาดเงินและตลาดทุนยามนี้ กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว มีความไม่สมเหตุสมผล หรือไม่สอดรับกันเท่าที่ควร
ผู้ชำนาญการตลาดทุนจำนวนไม่น้อย ระบุว่า นักลงุทนที่ชาญฉลาดและรู้เท่าทันจะต้องแยกแยะความปั่นป่วนของตลาดเงินตลาดทุนออกจากความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจว่า มีบางส่วนเหลื่อมซ้อน บางส่วนแยกจากกัน
พอล แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล เคยเอาสถิติมาวัดเทียบให้เห็นว่า แสดงว่าตลาดหุ้นที่พัง กับเศรษฐกิจที่พัง จะเกิดขึ้นได้ประมาณ 5 ใน 9 ครั้งเท่านั้นนับแต่ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ที่สอดรับและโยงใยกัน
ที่น่าสนใจก็คือ มีสถิติอีกเช่นกันที่ระบุว่า ไม่เคยมีเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากผลของราคาพลังงานถูกลงเลยสักครั้ง เพราะว่า ประชาชนที่อยู่วงนอกตลาดเงินตลาดทุนที่ปั่นป่วน กลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะทำให้กำลังซื้อมวลรวมสูงขึ้น ไม่ใช่ตกต่ำลง
ความวุ่นวายของธนาคารในเรื่องปัญหาหนี้เน่าของลูกค้า กำไรถดถอยของบริษัทในตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนวุ่นวาย ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมพังพินาศ เพราะตลาดเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ หากว่าหน่วยงานรัฐฯไม่บ้องตื้นหรืออวดรู้เกินเลย ถึงขั้นที่สะเออะเอาหนี้เอกชนเป็นหนี้ภาครัฐ เอาราคาหุ้นมาโยงการเมือง
ปัญหาของตลาดเงินตลาดทุนเป็นปัญหาปกติ เพราะไม่ว่าขาขึ้นหรือลง ไม่เคยปลอดปัญหาให้แก้ มีปัญหาตลอดไม่ว่าจะเป็นภาวะหมีหรือกระทิง รายละเอียดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย
ยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น ก็มีโจทย์ใหญ่เรื่องฟองสบู่ของตลาด ส่วนเมื่อเป็นขาลง ก็จะมีเรื่องหนี้เน่าและเงินล้น เนื่องจากตลาดวาย
ความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดเงิน และตลาดเก็งกำไรยามนี้ หากไม่มีมุมมองมากเกินไปอย่างสิ้นหวัง (ซึ่งถือเป็นค่าโง่ชนิดหนึ่ง ที่สร้างความเสียโอกาส ไม่แพ้การมองโลกเชิงบวกที่ขาดรายละเอียดและสติปัญญา) น่าจะทำให้เกิดสติและปัญญา มองเห็นโอกาสในวิกฤติได้ไม่ยากนัก
นี่มิใช่แค่คำปลอบใจแบบมะนาวหวาน หรือ องุ่นเปรี้ยว ในยามที่ตลาดยังคงอ่อนไหวและเปราะบาง แต่เป็นประสบการณ์ตรงและอ้อมที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจอย่างเท่าทัน เพื่อก้าวข้ามความปั่นป่วนไปให้ได้ ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์อย่างบอบช้ำ