“กลุ่มแบงก์” ปี 67 อวดกำไร 2.53 แสนลบ. จัดหนัก KBANK-SCB-BBL-KTB โกยทะลุ 4 หมื่นล้าน

ส่อง 11 ธนาคารอวดกำไรสุทธิปี 67 รวม 2.53 แสนล้านบาท เติบโต 7.22% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.35 แสนล้านบาท พบ KBANK-SCB-BBL-KTB โกยกำไรทะลุกว่า 4 หมื่นล้านบาท


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการประจำปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ของกลุ่ม “ธนาคารพาณิชย์” จำนวน 11 แห่ง ซึ่งรายงานผลการดำเนินงานครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูล พบว่า ภาพรวมกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่ง ประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 252,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิรวม 235,732 ล้านบาท

ขณะที่ เมื่อเจาะลึกไปยังผลประกอบการของธนาคารรายตัว พบว่า ธนาคารที่สามารถมีกำไรสุทธิประจำปี 2567 เติบโตแข็งแกร่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 5 บริษัท คือ KTB, KBANK, TTB, BBL และ CIMBT โดยมีรายละเอียดสนับสนุนการเติบโตจากรายได้ดอกเบี้ย การบริหารต้นทุนที่ดี ดังต่อไปนี้

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,852.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.70% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,605.27 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.70% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นลดลง 13.70%

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,855.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 36,615.91 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 119,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จากการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่ออย่างสมดุล โดยสินเชื่อเติบโตจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยและการขยายตัวของสินเชื่อภาครัฐ ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตแบบระมัดระวังในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) อยู่ที่ 3.29% เพิ่มขึ้นจาก 3.22% ในปี 2566 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 22,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8%

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 48,598.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 42,405.04 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้ดำเนินงานสุทธิ 48,685 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ยังมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 110,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.77% จากปีก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 197,946 ล้ามบาท เพิ่มขึ้น 2.75% เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและการขยายตัวของปริมาณธุรกิจ

อีกทั้งมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 48,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% หลัก ๆ จากรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการให้บริการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าผ่านการนำเสนอดติดภัณฑ์ทางกางการเงินที่ครอบคลุมทั้งของธนาคารและบริษัทย่อย

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21,031.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 18,621.53 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากควบคุมต้นทุนการเงินที่ดีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ในปี 67 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.26 จากร้อยละ 3.24 ในปี 66 เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45,211.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 41,635.52 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณเงินให้สินเชื่อและอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เติบโต ส่งผลให้เกิดรายได้สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากเพิ่มขึ้น และมีรายได้ที่มีการใช้ดอกเบี้ยรวม 41,911 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน โดยได้แรงผลักดันจากรายได้จากการลงทุน รวมทั้งรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบัตรเครดิต บริการประกันผ่านธนาคาร

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,943.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 43,521.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 129,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน จากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,046.99 ล้านบาท ลดลง 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,096.29 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 6,944.3 ล้านบาท ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งบริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 6,206.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของกําไรจากเงินลงทุนและรายได้เงินปันผล นอกจากนี้ มีค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานอื่น 3,858.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน อาทิ พนักงาน อาคาร สถานที่และอุปกรณ์

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,901.28 ล้านบาท ลดลง 5.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,301.11 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งเพื่อรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,985.07 ล้านบาท ลดลง 8.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,443.40 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 11% จากการชะลอตัวของสินเชื่อตามมาตรการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไปในประเภทที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินตามภาวะอัตราดอกเบี้ย และรายได้ที่การปล่อยสินเชื่อ ในส่วนของรายได้ค่านายหน้าประกันปรับตัวลดลง ภายใต้มาตรการชะลอการเติบโตสินเชื่อของธนาคาร

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,699.75 ล้านบาท ลดลง 9.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 32,929.52 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากในปี 67 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ 45,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 35,617 ล้านบาท ซึ่งมาจากแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดและรอบคอบของกรุงศรีภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ของประเทศ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการตั้งสํารองเพื่อรองรับธุรกิจในต่างประเทศ

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,852.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,605.27 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.70% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นลดลง 13.70% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานร้อยละ 2.60%

โดยภายหลังกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์รายงานผลการดำเนินงานปี 67 บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงทิศทางในปี 68 อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึง TTB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 2.18 บาท โดยบริษัทรายงานกำไรไตรมาส 4/67 เป็นไปตามคาดการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการตั้งสำรองลดลง ทั้งนี้ฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ปี 68 กำไรเพิ่มขึ้น จากสินเชื่อที่คาดการณ์จะฟื้นตัว และยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วยหนุน

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึง KBANK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 177.00 บาท ซึ่งภายหลังการรายงานกำไรปี 67 ฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สำหรับกำไรปี 68 เราคาดว่าจะเห็นการเติบโตอยู่ที่ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตของสินเชื่อยังคาดหวังให้เป็นปัจจัยสนับสนุนได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันด้านคุณภาพหนี้อยู่

สำหรับค่าใช้จ่ายสํารองหนี้ที่คาดว่าจะลดลงได้ เนื่องจากในปี 66-67 ที่ผ่านมาได้มีการบริหารจัดการหนี้เสีย (NPL) และมีการตั้งสํารองหนี้ในเชิงรุกไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมี JV AMC ร่วมกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่จะช่วยในการบริหารจัดการ NPL แต่อาจไม่ถึงระดับ 1.6% ที่ทางธนาคารตั้งเป้าไว้ โดยฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ในให้อยู่ในระดับ 1.8% เนื่องจากยังเห็นการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ Stage2 อยู่

อีกทั้ง บล.ทรีนีตี้ ยังระบุถึง BBL แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 185 บาท โดยฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์กําไรปี 68 จะเติบโตได้ 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีแรงกดดันจาก NIM ที่ลดลงบ้างตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่คาดการณ์สินเชื่อจะยังเติบโตได้ช่วยชดเชย NIM ที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ค่าใช้จ่ายสํารองหนี้คาดการณ์ว่าจะค่อนข้างทรงตัว ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาบ้างจากฐานต่ำในปี 67 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บล.กรุงศรี ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึง KTB แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24 บาท โดยคาดการณ์กำไรของ KTB ปี 68 อยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวม โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐ การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรอง (Credit cost) ซึ่งกำไรสุทธิปี 2568 ได้รับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากงบประมาณภาครัฐ ที่คาดการณ์มีการเร่งเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปี 68 รวมถึงมีโอกาสเห็น KTB ปรับเพิ่ม Payout ratio ขึ้น จากปัจจุบันที่ราว 30%

Back to top button