ฝุ่นหนาตึ้บ! PM 2.5 กทม. ทะลุโซนแดง โรงเรียนปิดแล้ว 103 แห่ง
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เลวร้าย ทะลุโซนสีแดง ค่าเฉลี่ยวันนี้ 62.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. เพิ่มเป็น 103 แห่งแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ ค่าฝุ่น PM 2.5 ณ เวลา 7.00 น. วันนี้ (22 ม.ค.68) อยู่ในระดับสีส้ม 45 เขต และสีแดง 5 เขต โดยค่าสูงสุดอยู่ที่ 86.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในพื้นที่เขตหนองแขม และค่าเฉลี่ยของกทม. อยู่ที่ 62.6 มคก./ลบ.ม.
ล่าสุด โรงเรียนสังกัด กทม. ได้มีประกาศคำสั่ง “ปิดโรงเรียน” เนื่องจากสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน คุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มเติมเป็นจำนวน 103 โรงเรียน จาก 437 โรงเรียน โดยรวมปิดการเรียนการสอน Onsite ทั้งสัปดาห์นี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเหตุผลในการให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการสถานศึกษาในการใช้ดุลยพินิจปิดโรงเรียนตามสถานการณ์ฝุ่นและเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของนักเรียนว่า เนื่องจากไม่อยากผลักภาระให้กับผู้ปกครองและคิดว่าโรงเรียนยังเป็นที่ปลอดภัยอยู่ ยกเว้นบางเขตที่มีค่าฝุ่นสูง อย่างไรก็ตาม กทม.ดูแลโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจหรือควบคุมไปถึงโรงเรียนของ สพฐ. หรือเอกชน
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ค่าฝุ่นสีแดงเป็นช่วง ๆ ผู้อำนวยการสถานศึกษามีอำนาจสั่งปิดโรงเรียน ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจสั่งปิด ครั้งละไม่เกิน 7 วัน หากสถานการณ์ค่าฝุ่นสีแดงต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 3 วัน จำนวน 5 เขต ผู้อำนวยการสำนักการศึกษามีอำนาจสั่งปิด ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และหากสถานการณ์ค่าฝุ่นสีแดงต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 3 วัน มากกว่า 5 เขตขึ้นไป ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนไม่จำกัดระยะเวลา ปัจจุบันมี “เขตหนองแขม” เพียงเขตเดียว ที่มีค่าฝุ่นสีแดงติดต่อกัน 3 วัน (วันที่ 20-22 ม.ค.68) ซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้สั่งปิดเป็นเวลา 3 วัน (20-22 ม.ค.68) และผู้อำนวยการเขตได้สั่งปิดต่ออีก 2 วัน (23-24 ม.ค.68)
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามในประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง มีค่าเกินมาตรฐานในระดับสีแดง หรือมากกว่า 75 มคก.ลบ. ไม่น้อยกว่า 5 เขตในพื้นที่ กทม. มีลักษณะอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างร้ายแรง
- นักวิชาการ เปรียบ ผู้ว่ากรุงโซล vs ผู้ว่ากรุงเทพ ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง
ด้าน ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ผู้ว่ากรุงโซล กับ ผู้ว่ากรุงเทพ ในวันที่ฝุ่น PM2.5 รุนแรง” โดยระบุว่า
- ประเทศเกาหลีใต้ประสบกับฝุ่นPM 2.5 อย่างรุนแรงในช่วงฤดูหนาวเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ฝุ่น PM2.5ที่ เกินค่ามาตรฐานจนถึงระดับที่มีผลต่อสุขภาพ หรือ “Unhealthy” เป็นภัยพิบัติทางสังคม(Social disaster)ที่ต้องจัดการแก้ไขทันที โดยกำหนดแผนเร่งด่วนในแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2022 และยังให้มีการใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เรียกว่า “Comprehensive Plan on Fine dust Management” โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น commander สามารถสั่งการลดแหล่งกำเนิดมลพิษในเมืองได้เบ็ดเสร็จ และยังสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้เมื่อภัยพิบัติหมดไป
- ในวันที่คาดว่าคุณภาพอากาศในกรุงโซล จะมีค่าเกินค่ามาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือ Unhealthy โดยตามแผนผู้ว่าการกรุงโซลมีอำนาจประกาศให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลได้ฟรี เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินและบนดิน รถขนส่งสาธารณะ รถไฟ เป็นต้น ในช่วงเวลาเร่งด่วนตั้งแต่ 05.00 น.-09.00 น. และ ช่วงเวลา18.00-21.00 น. และขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องนำรถยนต์ออกมาวิ่งบนถนนในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งสั่งลดกำลังการผลิตของโรงงานที่ใช้ฟอสซิ่ลเป็นเชื้อเพลิง, ตั้งเขตห้ามนำรถยนต์ดีเซลเก่าวิ่งเข้าเมืองตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ถึงเดือน ก.พ.,ให้เปลี่ยนรถบัสโดยสารในเมืองต้องเป็นรถยนต์ EV ทั้งหมด, สั่งห้ามเผาในที่โล่ง เป็นต้น
ดร.สนธิ ระบุอีกว่า ทั้งนี้เกาหลีใต้สามารถพยากรณ์คุณภาพอากาศและคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำอย่างน้อย 5 วัน โดยผู้ว่าการกรุงโซลจะประกาศให้ประชาชนทราบและเสนอมาตรการดังกล่าวออกไป
นอกจากนี้ ผู้ว่ากรุงโซลทุกสมัยจะต้องมีนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน ยึดหลัก “คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าเงินตราที่เสียไป (The value of human beings is far greater than that of money)” ถึงแม้จะเสียรายได้มหาศาลก็ไม่เป็นไรแต่มูลค่าสุขภาพอนามัยของประชาชนต้องมาก่อน
- ปี 2022 เกาหลีใต้ได้จัดการแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศให้ลดลงได้อย่างมาก เช่น ใช้รถเครื่องยนต์และน้ำมันEuro6, เริ่มใช้รถยนต์EV, ยกเลิกสถานประกอบการและโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง, เพิ่มสวนสาธารณะโดยมีขนาดของพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 27.8% ของพื้นที่กรุงโซล และมีสวนสาธารณะขนาดต่าง ๆ มากกว่า 2,200 แห่ง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังประสบกับฝุ่นละอองที่พัดข้ามแดนจากประเทศจีนในบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่ฝุ่นPM2.5 ในกรุงโซล ในปี2024 ลดลงถึง 75% สภาพอากาศดีเยี่ยมถึงปานกลาง
- สำหรับประเทศไทยเจ้าภาพจัดการฝุ่นละออง มีหลายหน่วยงานตามแผนปฎิบัติการของชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพียงใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องเหตุรำคาญและ พ.ร.บ.โยธาและผังเมือง เรื่องการก่อสร้างและปลูกต้นไม้ และพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเท่านั้น ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า ภัยจากฝุ่น PM2.5 ถือเป็นภัยพิบัติหรือไม่ ที่เหลือเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการฝุ่น PM2.5 ได้เหมือนประเทศเกาหลีใต้