ครม.ไฟเขียว! พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ เปิดทางลงทุน “ตั้งบริษัทลูก” พัฒนาอสังหาฯ

“มนพร” เผย ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ลุยจัดตั้งบริษัทลูก เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ - แหลมฉบังเต็มรูปแบบ สั่ง “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” ทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ม.ค.68) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ค.68 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

โดยสาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรี ผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่นั้น กทท. สามารถดำเนินการกิจการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของกทท. ได้ ที่สำคัญ คือการให้ กทท. สามารถจัดตั้ง “บริษัทจำกัด” หรือ “บริษัทมหาชนจำกัด” ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ

ดังนั้นจึงมีแนวทางที่จะให้ กทท. จัดตั้ง “บริษัทย่อย” เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉะบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับสากล โดยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่งดังกล่าว จะนำมาซึ่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GPD) รวมถึงสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ยังเพิ่มเติมให้ กทท. สามารถ “ลงทุน” หรือ “เข้าร่วมกิจการ” กับบุคคลอื่น หรือ “ถือหุ้น” ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของกทท. ได้ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ กทท. สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ, มีสิทธิครอบครอง, มีทรัพยสิทธิ, หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้

อีกทั้งกำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้งการจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ

นอกจากนี้ กทท. สามารถออก “พันธบัตร” หรือ “ตราสาร” เพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของกทท. ได้ และ สามารถเช่า หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกทท. ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนด กลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการในอนาคต โดยแสดงถึงเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 27) ต่อไป

 

Back to top button