แบงก์ประคอง/หนุนดัชนี

หุ้นกลุ่มแบงก์แจ้งงบการเงินไตรมาส 4/2567 กันออกมาครบแล้ว หากนับเฉพาะหุ้นแบงก์ที่อยูในความสนใจของนักลงทุน และนักวิเคราะห์ทำบทวิเคราะห์กันออกมา


หุ้นกลุ่มแบงก์แจ้งงบการเงินไตรมาส 4/2567 กันออกมาครบแล้ว

หากนับเฉพาะหุ้นแบงก์ที่อยูในความสนใจของนักลงทุน และนักวิเคราะห์ต่างทำบทวิเคราะห์กันออกมา ส่วนใหญ่จะทำกันอยู่ 7 แห่ง คือ BBL KBANK KTB SCB TISCO TTB และ KKP

กำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 ของแบงก์ 7 แห่ง ออกมารวมกันกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท

เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566

ส่วนแบงก์อื่น ๆ ที่เหลือคือ BAY CIMBT LHBANK CREDIT จะมีสภาพคล่องหรือวอลุ่มเทรดค่อนข้างน้อย

นักวิเคราะห์จึงมักไม่ได้ Cover กันออกมา

ทีนี้ย้อนกลับดูงบการเงินของแบงก์ทั้ง 7 แห่ง พบว่า หลายแบงก์สามารถสร้างกำไรสุทธิได้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถคุมรายจ่ายได้ค่อนข้างดี ส่งผล Cost to Income ลดลงอย่างมีนัยฯ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่วนใหญ่ปรับลง จะมีบางแห่งที่อาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก

เช่นเดียวกับเงินกองทุนทั้งในส่วนของ CAR และ Coverage ratio ต่างอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

แม้บางแห่งตัวเลขในส่วนนี้ (Coverage ratio) อาจจะปรับลดลงบ้าง แต่ไม่ได้มากนัก

ส่งผลให้วานนี้ มีการเข้ามาเทรดเพื่อเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มแบงก์กันคึกคัก

ไม่เว้นแม้แต่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างชาติ “ปรับพอร์ต” หุ้น KBANK ขายทำกำไรออกมา หลังจากราคาหุ้นขึ้นมาที่บริเวณแนวต้าน (159-162 บาท)

หุ้นกลุ่มแบงก์นั้น สังเกตกันไหมว่า

ในช่วงที่ดัชนีทรุดตัวลงอย่างหนัก (ไม่น่าใช่ปรับฐาน)

หรือจากระดับใกล้ 1,400 จุด ลงมาเกือบหลุด 1,300 จุด

แต่หุ้นกลุ่มแบงก์ยังยืนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง คือ ไม่ได้ปรับลงตามภาวะ หรือหากมีการย่อตัวลงมา เราจะเห็นแนวรับทันที

ยิ่ง บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่ราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง

เดิมนั้น ยังแอบสงสัยว่า ทำไมราคาวิ่งขึ้นยาว

เพราะหากเข้าไปดูบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่าง ๆ นั้น จะพบว่า ต่างคาดการณ์กำไรสุทธิต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

รวมถึงตัวเลขสำคัญทางการเงินอาจจะไม่ดีนัก

แต่พอ SCB แจ้งออกมาเป็นทางการ งบการเงินกลับดีเกินคาดเกือบทุกด้าน

นั่นทำให้ยังมีการเข้ามาเก็งกำไร กระทั่ง SCB มีราคาขึ้นทำนิวไฮ

มีคำถามว่า ในส่วนของ SCB ยังเข้าเล่นหรือซื้อได้อยู่หรือเปล่า

คำตอบของคำถามนี้ แม้ SCB ราคาจะวิ่งขึ้นมาเยอะ แต่จุดเด่นของ SCB คือ “เงินปันผล” ที่มี Dividend yield สูง ทำให้ยังคงมีการแนะนำเล่นแบบเก็งกำไร

กำไรสุทธิปี 2567 ของ SCB ที่ออกมา 4.39 หมื่นล้านบาท มากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย

สมมุติว่า SCB ปันผลงวดปี 2567 เท่ากับปี 2566 (10.34 บาท)

หากเทียบกับราคาหุ้น  ณ ปัจจุบัน จะคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงถึง 8.5% ซึ่งน่าจะเป็น “เบาะ” รับแรงกระแทกได้อย่างดี หากราคาหุ้น “ปรับฐาน” ลงมา

SCB งวดครึ่งแรกปี 2567 ปันผลไปแล้ว 2.00 บาท

ดังนั้น ที่สมมุติว่า SCB ปันผลเท่ากับปี 2566 เท่ากับว่า งวดครึ่งปีหลัง น่าจะปันผลอีกระหว่าง 8.30-8.40 บาท

หากคิดเฉพาะงวดครึ่งหลัง ยีลด์ก็ยังสูงอยู่ 6-7%

สรุป หากราคาหุ้น SCB ย่อตัวลงมา อาจจะเป็นจังหวะซื้อได้

ส่วนหุ้นแบงก์อื่น ๆ ต้องดูแนวต้านกันให้ดี เพราะหากใกล้แนวต้านมากไป ราคามีอัพไซด์จำกัด เราอาจเห็นการปรับฐานของราคาหุ้นแบงก์ได้

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button