ลุ้นหุ้นแบงก์วิ่งต่อ! โบรกชี้กำไรปี 68 ทะยานต่อ “ตั้งสำรองลด-ปันผลเด่น” ยีลด์สูง 5%
ลุ้นหุ้นแบงก์วิ่งต่อ! โบรกชี้กำไรปี 68 ทะยานต่อ-ตั้งสำรองลดฮวบ พ่วงจับตาการจ่ายเงินปันผลของกลุ่มฯมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend yield) อยู่ระดับสูง หรือเฉลี่ย 5% ต่อปี นำโดย SCB KTB และ BBL ด้าน KKP เผยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คุม NPL เหลือ 4.1-4.3%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(23 ม.ค.68) หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลุ้นทะยายต่อจากวานนี้ (22 ม.ค.) ที่มีมูลค่าการซื้อขายขึ้นมาติด 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดถึง 5 หุ้น นำโดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาปิด 156.50 บาท บวก 5.00 บาท เปลี่ยนแปลง +3.30% มูลค่าการซื้อขายอันดับหนึ่งกว่า 3,458 ล้านบาท, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ปิดที่ระดับ 23 บาท บวก 1.20 บาท เปลี่ยนแปลง +5.50% มูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับสองที่ 2,803 ล้านบาท
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาปิด 159.50 บาท บวก 1 บาท เปลี่ยนแปลง +0.63% มูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับสาม กว่า 2,463 ล้านบาท, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาปิด 124.50 บาท บวก 2 บาท เปลี่ยนแปลง +1.63% มูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับหกที่ 1,757 ล้านบาท และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ราคาปิด 1.90 บาท บวก 0.07 บาท เปลี่ยนแปลง +3.83% มูลค่าการซื้อขายมาเป็นอันดับเจ็ดที่ 1,755 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ระบุว่า 7 หุ้น BBL KBANK KTB SCB TTB บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชี่ยลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 รวมกันที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตัวเลขกำไรที่ออกมาดีกว่า FSS และตลาดคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 8-13%
กำไรที่ปรับเพิ่มขึ้น นั้น สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) และต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ที่ออกมาต่ำกว่าคาดโดย SCB และ KKP ถือว่าดีกว่าคาดมากสุด จาก OPEX ที่ต่ำกว่าคาดและตีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดสูงขึ้น ขณะที่ BBL และ KTB รายงานตัวเลข NPLs ปรับลดลงอย่างมาก
ด้านการเติบโตของสินเชื่อไตรมาส 4/2567 ตัวเลขจะเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (Non – NII) เติบโตดี ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.51% ดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ลดลงเป็น 3.55% จาก 3.8% ในไตรมาส 3/2567
ทั้ง “KBANK และ SCB ทาง FSS อาจยังมีความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์อยู่บ้าง” บล.ฟินันเซียฯ ระบุ
อย่างไรก็ดี เมื่อปิดงบการเงินปี 2567 ทั้ง 7 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน โดย FSS ยังชอบ BBL และ KTB เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มฯ และที่สำคัญหุ้นในกลุ่มธนาคารยังให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือ Dividend yield เฉลี่ย 5% ต่อปี นับว่าน่าสนใจ
ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เผยเช่นกันว่า ในปี 2568 ประเมินทิศทางกำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่บริษัททำการวิเคราะห์จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย BBL, KBANK, KTB, SCB, TISCO, TTB, KKP และ TCAP (บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)) จะมีกำไรสุทธิรวม 2.31 แสนล้านบาท เติบโต 4% จากปี 2567 โดยความท้าทายของธุรกิจแบงก์ปีนี้คือ ความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ เนื่องจาก 1.ความกังวลสงครามการค้า หรือ Trade War ที่จะกระทบภาคการส่งออก 2.ความกังวลภาคการท่องเที่ยวที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาด จากผลพวงประเด็นปัญหาของประเทศจีน จึงทำให้ธุรกิจแบงก์จะมีข้อจำกัดเรื่องการเติบโตของสินเชื่อ รวมไปถึงส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่น่าจะปรับตัวลง ซึ่งจะลดลงมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2568
สำหรับปัจจัยหนุนกำไรแบงก์ในปีนี้คือ การตั้งสำรองหนี้ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ส่วนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ยังไม่มีความชัดเจนว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร แต่อาจทำให้คุณภาพหนี้ของแบงก์ดูดีขึ้น
“ปีนี้ธุรกิจแบงก์จะโฟกัสที่การบริหารคุณภาพหนี้เป็นหลักเหมือนเดิม และโฟกัสการเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งหากควบคุมคุณภาพหนี้ได้แล้ว ปีนี้จึงน่าจะเห็นแบงก์ผ่อนสำรองหนี้ลง ซึ่งจะเป็นคีย์สำคัญของการเติบโตของกำไรแบงก์ในปีนี้ และหวังว่าตลาดทุนไทยฟื้นตัวได้หากปัจจัยต่างประเทศเรื่อง Trade War ไม่รุนแรง และในประเทศไม่มีประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง” นายธนเดช กล่าว
บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 ของกลุ่มธนาคารดีกว่าคาดเล็กน้อย จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ที่ดีขึ้น และมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองลดลง โดยธนาคารส่วนใหญ่มีกําไรดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าเล็กน้อย มีเพียง SCB ทีมีกําไรดีกว่า (บล.ทรีนีตี้) คาดถึง 26% โดยหลักมาจากค่าใช้จ่ายสํารองหนี้ที่ลดลงมาก ซึ่งมาจากคุณภาพหนี้ของ Card X ดีขึ้น
สำหรับแนวโน้มกําไรปี 2568 คาดกำไรสุทธิของกลุ่มจะเติบโตได้ 4% แม้ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปี 2568 ทำให้ NIM ของกลุ่มฯ อ่อนตัวลงราว 0.05 – 0.07% แต่คาดว่าแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น บวกกับการตั้งสํารองเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมาทำให้อาจเห็น Credit Cost ของกลุ่มฯ ลดลงราว 0.10-015%s
ด้านการเติบโตของสินเชื่อของกลุ่มฯ อาจยังไม่โดดเด่นมากนัก โดยคาดอยู่ในช่วง 1-3% เนื่องจาก สินเชื่อในกลุ่ม SME และรายย่อยยังมีปัญหาด้านคุณภาพหนี้ และธนาคารส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการการปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ ทำให้สินเชื่อที่อาจเติบโตได้ดีในปี 2568 อาจอยู่ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐเป็นหลัก
ทั้งนี้ คาดผลตอบแทนจากปันผลครึ่งปีหลัง 2567 ของกลุ่มฯ จะอยู่ในช่วง 2-6% ซึ่งยังค่อนข้างจูงใจ โดยหุ้นที่มีปันผลโดดเด่น ได้แก่ KTB (คาด 3.7% เนืองจากไม่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล), SCB (4.0%) และ (TISCO 6.0%)
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงการเติบโตของกําไร ความแข็งแกร่งของงบการเงิน และราคาหุ้นปัจจุบัน รวมด้วยแล้ว ยังคงแนะนำ BBL ราคาเป้าหมาย 185 บาท และ KTB ราคาเป้าหมาย 24 บาท เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มฯ
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอกซ์สปริง จำกัด (KTX) รายงานว่า วานนี้ (22 ม.ค. 2568) ผู้บริหารธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ได้จัดการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) พร้อมเปิดตัวเลขเป้าหมายทางการเงินปี 2568 สำหรับการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) คาดการณ์ระดับสินเชื่อจะคงที่ในปีนี้ ขณะที่ส่วนต่างรายได้จากสินเชื่อ (Loan Spread) ปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 4.8%-4.9% สำหรับอัตราส่วนหนี้เสีย (NPL Ratio) คาดปีนี้จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 4.1%-4.3% ส่วนต้นทุนความเสี่ยง (Credit Cost) ปีนี้คาดอยู่ในกรอบที่ระดับ 2.2%-2.4%
โดยมีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยจากการประชุม Analyst Meeting ด้วยแนวโน้ม credit costs และขาดทุนจากรถยึดที่คาดว่าจะลดลง โดยธนาคารฯ มองว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่การฟื้นตัวยังมีความท้าทาย ยังคงมีความระมัดระวัง โดยมองว่า loan growth จะไม่โตหรือติดลบเล็กน้อย และมีการกระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มอื่นมากขึ้น พร้อมเพิ่มสัดส่วนในส่วนที่มี credit exposure น้อย