“แบงก์-นิคมฯ-เทคฯ” ตีปีก รับ “คลัง” จ่อชง ครม.เคาะร่าง “พ.ร.บ. Financial Hub” เดือนหน้า
"แบงก์-นิคมฯ-เทคฯ" ตีปีก "คลัง" เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง Financial Hub เดือนหน้า โบรกชี้เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยดึง FDI และเสริมการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินกับต่างประเทศ ชู BBL, KBANK, SCB ได้ประโยชน์สูงสุดจากการขยายเครือข่ายต่างประเทศ
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลหลักทรัพย์ “กลุ่มธนาคาร” คาดจะได้ประโยชน์จากประเด็นกระทรวงการคลังไทยเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้ง Financial Hub ต่อประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนหน้า เพื่อปูทางต่างชาติตั้งสำนักนักงานบริการลูกค้าผ่านธุรกิจ 8 ประเภท โดยอาศัยข้อมูลจากบทวิเคราะห์ ของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุไว้ดังนี้
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า รมช.คลัง กล่าวถึง ความคืบหน้าการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ปัจจุบันได้ยกร่าง “พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …” และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างช้าต้นเดือน ก.พ.2568 เนื่องจากต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท โดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น
ทั้งนี้จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณีดังนี้
(1) ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้
(2) ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
(3) ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้
(4) ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้
(5) ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ทั้งนี้ประเมินประเด็นดังกล่าวเป็นบวกต่อเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาว จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น การมีสถาบันการเงินต่างประเทศรองรับธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย รวมการขยายขอบเขตบริการทางการเงินคนไทยออกไปต่างประเทศ โดยมองเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารในส่วนธุรกรรมการลงทุน+การเงินในประเทศโดยรวมจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เน้นหุ้นธนาคารใหญ่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK,บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และ หุ้นนิคม (การผลักดัน Financial Hub ส่วนหนึ่งคาดมีผลเป้าหมายดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ (Foreign Direct Investment: FDI) และกลุ่ม Digital Tech Consult อาทิ BE8,BBIK ที่มีโอกาสได้งานเกี่ยวข้องกับระบบดิจิตอลสถาบันการเงินต่างประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาเพิ่มเติม
บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กระทรวงการคลังไทยเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้ง Financial Hub ต่อครม.ในเดือนหน้า หากอนุมัติจะเข้าสู่สภาในสิ้นเดือนมี.ค. เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งบอร์ดที่มีอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาต แก่ธุรกิจที่จะลงทุน Financial Hub ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไร้รอยต่อกับธุรกิจประเทศเพื่อนบ้านและฮ่องกง
สำหรับข่าวนี้มองบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ ก่อนหน้านี้ไทยสนับสนุนในเรื่อง Hub การบิน, Data Center มาแล้ว หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่มี network ในต่างประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด (BBL, KBANK, SCB)
อนึ่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.68 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยกระทรวงการคลังได้ยกร่างกฎหมายชุดใหม่ 96 มาตรา มีการออกแบบสิทธิประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน พัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน โดยมีนายเผ่าภูมิ รมช.คลังเป็นประธาน
ปัจจุบันได้ยกร่าง “พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ….” และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างช้า ต้นเดือน ก.พ. 68 โดยร่าง พ.ร.บ. มีหลักการสำคัญ ดังนี้ ธุรกิจเป้าหมาย Financial Hub ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่
1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน
3) ธุรกิจหลักทรัพย์
4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
6) ธุรกิจประกันภัย
7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ
8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ คกก. ประกาศกำหนดให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในไทย โดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น
ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้
(1) ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้
(2) ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
(3) ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้
(4) ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้
(5) ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน
โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ในด้านสิทธิประโยชน์ ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย
สำหรับการอนุญาตและกำกับดูแล จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คกก. OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล
“คณะกรรมการ OSA จะมีอำนาจคล้ายสำนักงาน ก.ล.ต.แต่จะไม่ทับซ้อนบทบาทหน้าที่กัน เนื่องจาก OSA เน้นการสนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยโดยให้บริการแก่ลูกค้าต่างชาติด้วยกัน ส่วนเรื่องธนาคารไร้สาขาจะไม่เข้าข่ายตามกฎหมายนี้ การขออนุญาตจัดตั้้งธนาคารไร้สาขาจะเป็นกระบวนการภายในประเทศที่ต้องขออนุญาตตามขั้นตอนปกติ”