รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่องพลังงาน
ช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ มีหน้าเพจเฟซบุ๊กสำนักงานพลังงานจังหวัดหนึ่งที่ถูกแคปเอาไว้ได้ จั่วหัว “รัฐมนตรีรู้กฎหมาย แต่ไม่รู้เรื่องพลังงาน”
ช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ มีหน้าเพจเฟซบุ๊กสำนักงานพลังงานจังหวัดหนึ่งที่ถูกแคปเอาไว้ได้ จั่วหัว “รัฐมนตรีรู้กฎหมาย แต่ไม่รู้เรื่องพลังงาน”
รัฐมนตรีท่านนั้นก็หมายถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้มีภาพลักษณ์ดีในเรื่องของการตรึงราคาและลดราคาพลังงาน
ข้อความหน้าเพจวิจารณ์แหลกถึงการนำนโยบายย้อนยุคเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่น จะนำนโยบายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงขั้นต่ำเป็นเวลา 90 วัน โดยคาดหมายจะลดราคาลงมาได้ลิตรละ 2.50-4.00 บาท
ปัจจุบัน การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการสำรองโดยภาคเอกชน ตามพ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2543 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องสำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1
ซึ่งจะเพียงพอใช้น้ำมันเป็นเวลา 20-25 วัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ภาคเอกชนผู้ค้ามากเกินไป
แต่การที่รมต.พีระพันธุ์จะให้สำรองน้ำมันถึง 90 วัน ยิ่งจะเพิ่มภาระให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งจะต้องสร้างคลังสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 3-4 เท่าตัว ภาระที่เพิ่มขึ้นของเอกชน ก็ต้องนำไปบวกในราคาน้ำมันที่จำหน่ายปลีกแก่ประชาชนเข้าไปอีก
ความหวังจะเห็นราคาน้ำมันถูกลงจากการสำรองสูงกลับจะแพงขึ้นกว่าที่คิด
ยุคสมัยนี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยยุค 50 ปีก่อน ที่น้ำมันขาดแคลนเป็นของหายาก และเครือข่ายการจัดหาน้ำมันก็ยังไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน รัฐบาลในอดีตจึงต้องออกกฎหมายบังคับสำรองในอัตราสูง
ข้อดำริจะออกกฎหมายให้สำรองน้ำมันเพิ่มถึง 90 วัน จึงย้อนยุคอยู่ไม่น้อย
นอกจากนั้น นโยบายรัฐมนตรีจะไม่ให้มีการปรับราคาน้ำมันขึ้น-ลงเป็นรายวันอีกแล้ว จะให้ใช้ราคาเดียวไป 90 วันเลยค่อยปรับราคา ก็เป็นนโยบายที่ฝืนธรรมชาติการขึ้นลงราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ ที่แม้แต่วันหนึ่งก็ยังขยับกันหลายราคาเลย
เกิดโรงกลั่นซื้อน้ำมันบิ๊กล็อตมาราคาแพง แล้วต่อมาราคาน้ำมันลง มิต้องประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นล้มละลายลงเลยหรือ
มันคงจะคิดมุมเดียวว่า การซื้อน้ำมันมากักตุนไว้ 90 วันแล้วราคามีแต่จะขึ้นเหมือนราคาที่ดินคงไม่ได้หรอก เพราะธรรมชาติราคาน้ำมันนั้นมีขึ้นมีลงตลอดเวลา การจะทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพจึงเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติอย่างแรง และอาจสั่นคลอนไปถึงกิจการโรงกลั่นและกิจการค้าน้ำมันต้องปิดตัวลง
ผมไม่ทราบว่าร่างกฎหมายของท่านพีระพันธุ์เสร็จสมบูรณ์หรือยัง แต่หากเสร็จแล้วก็ยังไม่รู้จะเสนอในนามพรรครวมไทยสร้างชาติของตน หรือจะเป็นกฎหมายในนามรัฐบาล
ก็คงน่าดูชม หากคลอดกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้!
นั่นเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด แต่เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าในงวด 2 (พ.ค.-ส.ค. 68) มีราคาแพงขึ้น อันเกิดจากน้ำมือรัฐมนตรีเอง
นั่นก็คือ คำสั่งนายพีระพันธุ์ มีไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ วันที่ 19 พ.ย. 67 ให้ระงับการดำเนินการใด ๆเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ มูลค่า 7,250 ล้านบาท ซึ่งบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ หรือ SQ เป็นผู้ชนะการประมูล
เรื่องง่าย ๆ เลยก็คือ เป็นการประมูลจัดซื้อด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งมีผู้สนใจซื้อซองประมูล 4-5 ราย แต่ยื่นประมูลมาเพียง 2 ราย อิตาเลียนไทย (ITD) ตกคุณสมบัติที่ไม่มีเอกสารความพร้อมของเครื่องจักร และสายพานลำเลียง บริษัท SQ เหลือเพียงเจ้าเดียวผ่านคุณสมบัติ และเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง จึงเป็นผู้ชนะประมูลไป
ITD ซึ่งไม่เคยแสดงความพร้อม อุทธรณ์ ตามคำคัดค้านของบอร์ดกฟผ.คนสนิทรมต.ชื่อพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด แต่ยังไม่ทันไร รัฐมนตรีออกคำสั่งระงับการเซ็นสัญญา ปัญหาก็คือ รัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมาย สั่งระงับดำเนินการหรือไม่
เพราะตามพ.ร.บ.จัดตั้งกฟผ. รัฐมนตรีไม่มีอำนาจแทรกแซงการดำเนินงานของกฟผ. ทำได้แค่การกำกับดูแลกฟผ.ในเรื่องที่เป็นนโยบายรัฐบาลหรือมติครม.เท่านั้น
คำสั่งระงับดำเนินการตามผลประมูลของกฟผ. เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลหรือมติครม.หรือ รัฐมนตรีจึงสอดเข้ามาแทรกแซงกฟผ.
เป็นที่รู้กันดีว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำสุดในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว หากไม่มีถ่านหินใช้ผลิตไฟภายในเดือน- 2 เดือนนี้ อันเกิดจากผลสอบล่าช้าหรือเลวร้ายถึงขั้น “ล้มประมูล” ก็ต้องหันไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น
ค่าไฟจะถูกลงได้อย่างไร!
ภาพลักษณ์ของการรู้กฎหมาย แต่ไม่รู้เรื่องพลังงานของรมต.พีระพันธุ์แจ่มชัดขึ้นทุกที
ชาญชัย สงวนวงศ์