“หุ้นโรงไฟฟ้า” ดีดบวก! รับกกพ. เปิดขายไฟสีเขียว UGT1 เฟสแรก 2 พันล้านหน่วย
“หุ้นโรงไฟฟ้า” ดีดบวก! นำทีม GULF-GPSC-BGRIM รับกกพ. เปิดขายไฟสีเขียว UGT1 นำร่องเฟสแรก 2 พันล้านหน่วย ราคา 4.21 บาท พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการจับจองจนถึงวันที่ 28 ก.พ.นี้ เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ เม.ย.นี้ ส่วน UGT2 จาก RE บิ๊กล็อต จำนวน 4,852 เมกะวัตต์ จ่อเปิดภายใน มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(24 ม.ค.68) ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าบวกกลับ นำโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ณ เวลา 10:15 น. อยู่ที่ระดับ 32.25 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 0.78% สูงสุดที่ระดับ 32.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 32.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 38.20 ล้านบาท
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 10:14 น. อยู่ที่ระดับ 60.00 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 0.42% สูงสุดที่ระดับ 60.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 59.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 104.86 ล้านบาท
ส่วนบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 15.70 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.64% สูงสุดที่ระดับ 15.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 15.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12.22
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ณ เวลา 10:07 น. อยู่ที่ระดับ 3.98 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.51% สูงสุดที่ระดับ 3.98 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.96 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 0.58
บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า กลุ่ม Power แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน (Overweight) จาก กกพ. เปิดขายไฟสีเขียว UGT 1 นำร่องเฟสแรก 2 พันล้านหน่วย ราคา 4.21 บาท พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการรับจองจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2568 เริ่มขายไฟเข้าระบบตั้งแต่ เม.ย. 2568
โดย DAOL มุมมองเป็นกลางจาก UGT 1 เป็นการดีลซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง ผู้ใช้ไฟฟ้าและ 3 การไฟฟ้าโดยตรง อย่างไรก็ตามในระยะถัดไปจะมีการเปิด Direct PPA ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาการเปิด Third Party Access เพื่อเข้าใช้สายส่งของการไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ประเมินเป็น positive sentiment ให้กับผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น GULF แนะนำถือราคาเป้า 60.00 บาท, GPSC แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 60.00 บาท, BGRIM แนะนำซื้อราคาเป้า 35.00 บาท, WHA (consensus ราคาเป้าหมาย 6.45 บา ท ) , WHAUP (consensus ราคาเป้าหมาย 5.75 บาท), AMATA (consensus ราคาเป้าหมาย 33.50 บาท)
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า กกพ. เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) ครั้งแรกในประเทศไทย ประเมินบวกต่อภาพพัฒนาการการขายไฟฟ้าสะอาดที่เดินหน้ารองรับ FDI โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าที่สนับสนุน Data Center จิตวิทยาบวกหุ้นในธีม Infra Tech อาทิ GULF, GPSC, INSET, ADVANC
ด้านนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) เป็นการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย โดยเฟสแรกนี้จะมีปริมาณรวม 2,000 ล้านหน่วย ที่อัตราราคา 4.21 บาทต่อหน่วย ซึ่งคำนวณจากค่าไฟงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาทต่อหน่วย บวกค่าความสะอาด 6 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ทางการไฟฟ้าทั้ง 3 การ ซึ่งได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว UGT1 โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน ที่มีความจำเป็น หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยได้กำหนดอัตรา UGT1 เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟภ. ผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน. ที่เว็บไซต์ mea.or.th ลูกค้าตรง กฟผ. ที่เว็บไซต์ egat.co.th ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2568 ทั้งนี้ค่าส่วนเพิ่มดังกล่าวจะเรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ใช้ไฟฟ้า UGT1 เท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป
โดยขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน., กฟภ.) จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ กฟผ. จำนวน 7 เขื่อน รวม 1,135 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมทั้งเตรียมการในการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล และมั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบนี้ของภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด โดยในช่วงต่อไปจะมีการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) และ Direct PPA เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าการเปิด UGT2 หรือ ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา จะมาจากโครงการพลังงานหมุนเวียนบิ๊กล็อต รอบแรกที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 4,852 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากทั้ง โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ ลม ไบโอแมส และไบโอแก๊ส คาดว่าจะสามารถเปิดได้ในช่วงเดือน มิ.ย.2568 จากนั้นจะผู้ที่สนใจลงทะเบียนต่อไป ซึ่งอัตราราคาจะต่างกับ UGT1 จากนั้นคาดว่าจะเปิดในส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตเอกชนโดยตรง หรือ Direct PPA ต่อไป
นายพูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า บอร์ด กกพ. เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กกพ.) ที่ชะลอการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังานหมุนเวียนเฟส 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ออกไปก่อน ทั้งนี้ กกพ.ยังรอความชัดเจนจากทางฝ่ายนโยบาย คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาเร็วๆ นี้ ส่วนเรื่องการปรับลดลดค่าไฟ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากข้อเสนอการยกเลิกสัญญา Adder และ FiT ของกลุ่ม SPP และ VSPP นั้น ทาง กกพ. เตรียมส่งหนังสือไปยัง รมว.พลังงานภายในเดือน ม.ค.นี้
ด้านนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมพัฒนา UGT ขึ้นเพื่อตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า หรือ Scope 2 Emissions โดยอาศัยกลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ตามมาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ออกแบบให้มี Arrangement Unit ที่ดำเนินการผ่าน UGT Platform เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรและจับคู่ข้อมูลระหว่างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงของผู้ใช้บริการ นำไปสู่การรับรองและส่งมอบ REC ให้กับผู้ใช้บริการตามแนวทาง Bundled REC ซึ่งเป็นแนวทางที่รวมการชำระค่าไฟฟ้าและค่าบริการใบรับรอง REC ไว้ในธุรกรรมเดียว
ดังนั้น UGT จึงไม่เพียงช่วยตอบความต้องการให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ Net-zero emissions และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในประเทศไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล