คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นธ.ค. คิดเป็น 44.36% ของ GDP
คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้นธ.ค. คิดเป็น 44.36% ของ GDP
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2558 มีจำนวน 6,005,124.74 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.36 ของ GDP โดย GDP ปี 2558 เท่ากับ 13,537 พันล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ 15 กุมภาพันธ์ 2559) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นสุทธิ 29,358.39 ล้านบาท
โดยการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะมีรายละเอียด ดังนี้ หนี้ของรัฐบาล จำนวน 4,410,377.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,365.41 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 57,133.25 ล้านบาท
การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 6,784.83 ล้านบาท มีรายการดังนี้
1.การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อ จำนวน 1,573.83 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 1,394.44 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 174.85 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 เส้นทาง และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และกรมทางหลวง จำนวน 4.54 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2)
2.การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 5,211 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 และโครงการเงินกู้ DPL
การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 47,771.40 ล้านบาท แบ่งเป็น การชำระคืนเงินต้นที่ออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 260.98 ล้านบาท และการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง จำนวน 3,314.99 ล้านบาท การชำระคืนต้นเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 2,830.77 ล้านบาท การชำระคืนดอกเบี้ย จำนวน 41,364.66 ล้านบาท แบ่งเป็น ดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ จำนวน 41,248 ล้านบาท และดอกเบี้ยหนี้ต่างประเทศ จำนวน 116.66 ล้านบาท การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 11,291.86 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระต้นเงิน จำนวน 3,000 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย จำนวน 8,291.86 ล้านบาท
หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ลดลง 23,779 ล้านบาท เนื่องจากเป็นหนี้ที่กู้ล่วงหน้ามาเพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้นำไปชำระคืนหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้น 633.07 ล้านบาท
สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1,045,048.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 323.44 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้น 3,966.83 ล้านบาท
การชำระคืนเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่าย ทำให้หนี้ลดลง 3,643.39 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้ในประเทศและหนี้ต่างประเทศของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,451.46 ล้านบาท การชำระคืนหนี้ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 853.70 ล้านบาท และการชำระคืนหนี้ของการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 429.65 ล้านบาท
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 532,268.78 ล้านบาท ลดลง 2,203.27 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร โดยใช้เงินจากการระบายสินค้าเกษตร จำนวน 2,171 ล้านบาท
หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 17,430.88 ล้านบาท ลดลง 127.19 ล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนเงินกู้มากกว่าการเบิกจ่าย โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของสำนักงานธนานุเคราะห์ จำนวน 297.50 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2558 สบน. มีการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 8,827.10 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการรถไฟแห่งประเทศไทย
นายธีรัชย์ กล่าวถึงหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 6,005,124.74 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,654,978.88 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.17 และหนี้ต่างประเทศ 350,145.86 ล้านบาท (ประมาณ 9,939.76 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 5.83 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 5,663,025.25 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.30 และหนี้ระยะสั้น 342,099.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.70 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด