เลขาฯ ก.ล.ต. ชี้ 3 ความท้าทายใหญ่ “ดาต้า-ปรับตัว-ปรับใจ” สู่ Sustainability – Well-Being

เลขาฯ ก.ล.ต. ชี้ 3 ความท้าทายใหญ่! "ดาต้า-ปรับตัว-ปรับใจ" กุญแจสู่ Sustainability และ Well-Being ย้ำทิศทางเดินหน้าเปิดเผยข้อมูล ESG “บริษัทจดทะเบียน” ในตลาดทุน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.พ.68) ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงาน Chula Thailand President Summit 2025 จัดขึ้น ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “Future Thailand: Sustainability and Well-Being”

ศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวว่า ความท้าท้ายหลักของ Sustainability และ Well-Being คือ ดาต้า (Data) เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญกับการใช้กำหนดทิศทาง หรือออกกฎเกณฑ์มากำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. เวลาจะออกนโยบายอะไรก็ตาม หรือ “ทำถนน” ที่เป็นทิศทาง ต้องทำด้วย ดาต้า หรืองานวิจัย

ความท้าท้ายต่อมาก็คือ เมื่อมีข้อมูลแล้ว ต้องมีการปรับตัว บางเรื่องหลายบริษัทมองเป็นผลกำไร  แต่การเป็น Net Zero ต้องเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี ซึ่งไม่มีทางที่จะต้นทุนถูก ถ้ามองด้วยยีลด์ 1-2 ปี อาจมองว่าไม่คุ้ม แต่ในเชิงของความยั่งยืน มันมีปัจจัยแฝง เราไม่ทำคนอื่นทำ เราไม่ทำผู้บริโภคของเราจะด้อยค่าเราลง สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความท้าทายที่ 2 คือ ปรับตัวเป็น ต้องปรับตั้งแต่ ทัศนคติ ทำเพราะอยากจะยั่งยืน ทำเพราะมอง stakeholder นอกจากที่เป็นเจ้าของเงินเอง  ผู้บริโภคของเราก็มีผลด้วย จึงจำเป็นต้องปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ และท้ายที่สุดต้องปรับใจด้วย เพราะเป้าบางอย่างต้องอาศัยระยะเวลาด้วย

โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แถลงบทบาท ทั้งกำกับและพัฒนาไว้  3 ทิศทาง ประกอบด้วย

  1. ใช้กลไกในตลาดทุนขับเคลื่อนความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่ เชื่อว่าทำได้ดีอยู่แล้วในประเด็น ESG จะทำอย่างไรให้เขาสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนสีเขียวจากต่างประเทศ เพราะกองทุนปัจจุบันไม่ได้มองแค่ผลตอบแทน แต่มองว่าบริษัทได้ทำอะไรเพื่อรักษ์โลกหรือไม่ ดังนั้นแนวทางที่สำนักงานฯ จะไปคือ การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ทางด้าน ESG ตามมาตรฐานสากล ISSB (International Sustainability Standards Board) ซึ่งเรียกว่าโรดแมป เชื่อว่าก็คงเป็นภาระกับบริษัท แต่เราต้องทำ และจะมีการให้รางวัลกับคนทำดี

“ยาเม็ดเดียวตอบโจทย์ ได้ทั้ง Well-Being ออมก็ออมกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG พวกบริษัทที่ทำ ESG ดี ๆ ก็มี Visibility ขึ้นมาเป็นตัวที่สามารถเลือกลงทุนได้”

  1. ทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยสามารถใช้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมกับตลาดทุนได้ ไม่อยากจะเห็นคนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้ประโยชน์กับการลงทุนถึงแม้ทางอ้อมผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ในตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กำลังพัฒนา “Individual Savings Account” เราอยากเห็นคนไทยอายุ 18 ปี เริ่มทำงานก็มี Account กับกรมสรรพากร ลงทุนในสิ่งที่จะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และต่อเนื่องไป โดยไม่ต้องอาศัยมาตรการระยะสั้น ๆ ในการกระตุ้นแต่ละรอบ โดยไม่นับเครื่องมือต่าง ๆ ในการออมที่มีความชัดเจนมากขึ้น
  2. Digital Economy เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ควรจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ แต่ท้ายที่สุดก็จะต้องควบคุมโดย “คน” แต่จะลดงานพวก Labour-intensive ลงได้มาก อยากเห็นผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ระดมทุน ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะสามารถสร้าง Performance ได้

“การมองว่าเราจะเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มองว่าเราต้องเติบโตทุกปี จริง ๆ แล้ว ถ้าเราแค่มี ความยืดหยุ่น (resilience) ได้ดี กับปัจจัยที่แปลกใหม่ (unknown) เราสามารถรักษาการเติบโตในลักษณะเดิมได้ ภายใต้ปัจจัยใหม่ ๆ เช่น เมื่อตอนเราเจอโควิด เราก็ งง เราไม่เคยเจอ แต่ถ้าใครโตได้เท่าเดิม ในภาวะโควิดนั้น ก็เรียกว่าท่านมีความยืดหยุ่นที่ดี ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะผูกเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วยกัน”

เลขาธิการ ก.ล.ต. หวังว่า ในฐานะบทบาทกำกับและพัฒนา เราทำตัวเราเองให้ยั่งยืนอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากเหลือองค์กรกำกับ แต่ไม่มีใครให้เรากำกับ เราก็อยากจะมีถนน ที่ทุกคนเดินแล้วเป้าหมายเดียวกัน แล้วท้ายที่สุดประโยชน์นโยบายเชิงสาธารณะ ก็ต้องตกกับประชาชนคนไทย ดังนั้นอยากให้ติดตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ เปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน และจะถ่ายโอนลงมาหาบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม การใช้ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลสินทรัพย์, คริปโต, Stablecoin จะมีเกณฑ์ที่เอื้อ ขณะเดียวกันก็ยังคุ้มครองผู้ลงทุน อีกทั้งอยากเห็นเครื่องมือเปลี่ยนหนี้ให้เป็นเงินออม เปลี่ยนเงินออมให้เป็นเงินลงทุน สิ่งเหล่านี้จะได้เห็นภาพของการบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน ใครพร้อมสามารถทำได้ก่อนไม่ต้องรอสำนักงาน ก.ล.ต. บอกให้ทำ

Back to top button