เลือกตั้ง อบจ.68 ไม่เข้าเป้า กกต. เผยยอดผู้มาใช้สิทธิ์ 58.45% สั่งเลือก ส.อบจ. ใหม่ 4 เขต
เลือกตั้ง อบจ.68 ต่ำกว่าเป้า เลขาธิการ กกต. เปิดยอดผู้มาใช้สิทธิ์ 58.45% พบร้องเรียนแล้ว 180 เรื่อง สั่งเลือกตั้ง “ส.อบจ.” ใหม่ 4 เขต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.พ.68) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภาพรวมการเลือกตั้ง สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้ง นายก อบจ. ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 27,991,587 คน มาใช้สิทธิ์ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45% ถือว่า ลดลงจากการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปี 2563 ประมาณ 4% ในจำนวนนี้เป็นบัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็น 87.23% ส่วนบัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69% ซึ่งถือว่าเกือบเท่ากับปี 2563 ที่มีบัตรเสียอยู่ที่ 5.63% และบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08%
ขณะที่ ส.อบจ. ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมี 47,124,842 คน มาใช้สิทธิ์ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06% เป็นบัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็น 87.56% บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็น 5.63% และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81%
นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณีข้อวิจารณ์ถึงการมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. ไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เป็นเพราะจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ว่า เรื่องนี้เคยชี้แจงว่ามีข้อจำกัดที่ข้อกฎหมายที่ต้องเลือกภายใน 45 วัน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า มี 6 จังหวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ส่งรายงานผลคะแนน และหีบบัตรเกินเวลา 24 นาฬิกาของวันที่ 1 ก.พ. 68 ดังนั้นแล้วสะท้อนว่า สิ่งที่เราได้ตัดสินใจเลือกตั้งในวันเสาร์นั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเราได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งครั้งนี้ก็มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างส่งหีบบัตร ซึ่งตนขอแสดงความเสียใจ และทาง กกต. จะดูแลตามสิทธิ์ที่ กปน. ควรจะได้รับ
ส่วนจำนวนบัตรเสีย ในครั้งนี้ เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่าไม่ต่างจากการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปี 2563 โดยบัตรเสียจากการเลือก นายก อบจ. ครั้งนี้ เท่ากับปี 2563 ขณะที่บัตรเสียจากการเลือก ส.อบจ. ครั้งนี้ มีน้อยกว่าเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 7.63% ซึ่งจากการได้รับข้อมูล พบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากระบบที่ทำให้เบอร์ของผู้สมัคร นายก อบจ.กับ ส.อบจ. ที่ส่งในนามพรรค อาจทำให้มีจำนวนผู้สมัครไม่เท่ากัน เพราะบางจังหวัดเลือกตั้ง เฉพาะ ส.อบจ. ขณะที่บางจังหวัดก็เลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท ทำให้ประชาชนอาจสับสน ลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งมองได้ว่า ไม่ได้เป็นการตั้งใจทำให้บัตรเสีย ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งเขตใหม่ จึงทำให้ประชาชนสับสน โดยส่วนที่ตั้งใจทำให้เป็นบัตรเสียนั้นมีส่วนน้อย
สำหรับบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร หรือ “โหวตโน” ที่มีจำนวนมากนั้น นายแสวง กล่าวว่า คงไปตอบแทนประชาชนไม่ได้ แต่ช่องนี้น่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อผู้สมัครในเขตนั้น ๆ
ส่วนกรณีพรรคประชาชนเสนอให้นับคะแนน “นายก อบจ.” ที่ จ.เชียงใหม่และสมุทรปราการ ใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีจำนวนบัตรเสียเยอะนั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เรื่องการนับคะแนนใหม่มีหลักเกณฑ์อยู่ เช่น ระหว่างการนับคะแนนมีการทักท้วงและมีการทำบันทึกไว้หรือไม่ ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตการเลือกตั้งที่ปรากฏทางสื่อช่องทางต่าง ๆ นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงาน กกต. และล่าสุดจำนวนเรื่องร้องเรียนมี 180 เรื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่า มี 4-5 จังหวัด ที่พบจำนวนบัตรกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิจำนวนไม่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้ทางจังหวัดต้องพิจารณาและเสนอมาที่ กกต. ว่า สมควรจะให้มีนับคะแนนใหม่ หรือลงคะแนนเลือกตั้งใหม่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีจังหวัดที่ต้องประกาศให้เลือก ส.อบจ. ใหม่ 4 เขตเลือกตั้ง จากเหตุ 2 กรณี คือ กรณีไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครมีลักษณะต้องห้ามฯ ได้แก่ จ.ชัยนาท อ.วัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1
และกรณีได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่มากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด จำนวน 3 เขตเลือกตั้ง คือ จ.สุพรรณบุรี อ.เมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1, จ.ตรัง อ.เมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2 และ จ.ชุมพร อ.สวี เขตเลือกตั้งที่ 4
สถิติจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง “ส.อบจ.” และ “นายก อบจ.” มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- ลำพูน 73.43%
- นครนายก 73.00%
- พัทลุง 72.56%
- นราธิวาส 68.42%
- มุกดาหาร 68.03%
สถิติจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง “ส.อบจ.” มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- พะเยา 61.68%
- เลย 58.04%
- เพชรบุรี 57.44%
- ยโสธร 56.72%
- ชัยนาท 56.63%