โบรกมองหุ้นไทย “แพนิกระยะสั้น” เรียกร้องฟื้นชีพกอง LTF แนะกลุ่ม Domestic เด่น

ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดฯ กลับมายืนเหนือ 1,300 จุด นักวิเคราะห์มองเป็น “แพนิกระยะสั้น” จากสงครามการค้า มั่นใจปีนี้มีโอกาสพลิกฟื้นแตะระดับ 1,500 จุด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แนะหุ้น CRC, HMPRO, AOT, BBL, SCB, KTB


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (3 ก.พ.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดที่ 1,304.39 จุด ลดลง 10.11 จุด เปลี่ยนแปลง -0.77% มูลค่าการซื้อขาย 54,212 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 362 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 600 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วงเปิดตลาดภาคเช้า ดัชนีฯ ลงมาที่ 1,270.87 จุด ลดลง 43.63 จุด โดยหุ้นไทยร่วงลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลง จากการ “ตื่นตระหนก” สงครามการค้าทวีความรุนแรง หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก 25% และจีน 10% ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์มีท่าทีที่ดีต่อจีน ขณะที่ทั้ง 3 ประเทศตัดสินใจให้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ

ขณะที่ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า ยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2568 กรอบจะอยู่ที่ 1,520 จุด ส่วนกรอบล่าง 1,270 จุด (จุดต่ำสุดวานนี้ 3 ก.พ.) อย่างไรก็ดีในด้านปัจจัยพื้นฐานดัชนีฯ ไม่ควรหลุด 1,300 จุด แต่หากหลุดนั้น ซึ่งในทางเทคนิคจะอยู่ที่ 1,270 จุด ไม่ควรหลุด และน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี

ขณะที่ นับจากนี้ไม่น่าจะมีสถานการณ์ที่แย่ไปกว่านี้แล้ว หลังสงครามการค้าที่เริ่มแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง และจากนี้มั่นใจว่าตลาดหุ้นไทยจะค่อย ๆ ปรับขึ้น เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีเรื่อง “ชอร์ตเซล” และสัปดาห์ก่อนที่มีความกังวลเกี่ยวกับหุ้นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จนเกิดแรงเทขายอย่างหนัก สำหรับหุ้นที่ลงแรง ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ทยอยซื้อสะสมเพื่อลงทุนในระยะกลางถึงยาว

“วานนี้หุ้นร่วงแรงจาก “เทรดวอร์” ที่เข้ามาในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นบ้านเราเปราะบาง ทำให้ดัชนีถูกกดดันต่อ และความกังวลเรื่อง CPALL ที่เวลาแจ้งตลาดแล้วยังไม่ชัดเจน ทำให้กลายเป็นประเด็น และนักลงทุนไม่แน่ใจถ้าบริษัทชี้แจงไม่ชัดเจน ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะตีความกันเอง”

ส่วนภาพรวมการลงทุนปีนี้ จากเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากความคาดหวังการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องจับตาในครึ่งปีหลัง ขึ้นอยู่กับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมามีความต่อเนื่องหรือไม่ เพราะจะทำให้เกิดความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจได้ ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญ ซึ่งตลาดการเงินมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไตรมาส 1/2568 จากความกังวลต่อเงินเฟ้อ ทำให้คาดการณ์ดอกเบี้ยในไทยอาจปรับลง 1 ครั้ง ในครึ่งหลังของปี 2568

“ไตรมาส 1-2 คาดเศรษฐกิจพอเดินหน้าไปได้ แต่หากไตรมาส 3 เทรดวอร์กระทบมาถึงไทย และเป็นช่วงท้ายของปีงบประมาณ อาจเป็นภาวะที่ขาดช่วงของมาตรการ ทำให้ช่วงไตรมาส 3 ค่อนข้างน่ากังวล แต่พอมาถึงไตรมาส 4 เป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณ หุ้นจะกลับมาคึกคักได้” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

สำหรับคำแนะนำ เลือกหุ้นที่ P/BV ต่ำ หุ้นที่มีกำไรต่อเนื่อง มีดิวิเดนด์ยีลด์สูง เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารที่มีดิวิเดนด์ยีลด์ 5% ขึ้นไป แนะนำทยอยซื้อ

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าววานนี้ในช่วงที่ดัชนีลงมาต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด ว่า ให้น้ำหนักที่ “ปัจจัยในประเทศ” มากกว่า ส่วนปัจจัยภายนอกไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะได้รับผลกระทบกันทุกประเทศ

ปัจจัยในประเทศ ได้แก่ 1.ไม่มีธุรกิจเกิดใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 2.เป็นนักลงทุนหน้าเดิม และลงทุนวิธีการเดิม (Old Investments) เช่น IPO หุ้นเล็ก ๆ จัดสรรหุ้นไปให้นักลงทุนรายใหญ่ มีการทำราคาเปิด และทำให้รายย่อยติดหุ้น พอมีความเสียหายจากการลงทุน จะไม่มีเงินลงทุนต่อ 3.ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโตไม่มาก ขณะที่ธุรกิจ New S-Curve ไม่ค่อยมี จึงมีการผลักดัน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ขึ้นมา

ทั้งนี้ ในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศนั้น มองว่าแรงขายค่อย ๆ ชะลอแล้ว ยกเว้นเงินลงทุนระยะยาวที่ลงทุนในธุรกิจไทย แต่ที่เห็นแรงขายในตลาดหุ้นส่วนหนึ่งเป็น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดอายุ

ทิศทางหุ้นไทยหลังจากนี้ คาดหวังให้ผลประกอบการบจ.ดีขึ้น บ้านเรายังมีกลุ่มธนาคารมีผลประกอบการดี มีกำไรดีมาก เป็นตัวช่วย ส่วนหุ้นสื่อสาร นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจอาหารบางประเภทราคายังถูก หุ้นดี ๆ ยังมีอยู่แต่เงินที่จะลงทุนไม่มี ตอนนี้ลุ้นให้ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ดีขึ้น” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด หรือ INVX เผยว่า ตลาดหุ้นยังมีแรงกดดันต่อเนื่อง จากประเด็นทรัมป์มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแคนาดา, เม็กซิโก 25% และเก็บจีน 10% ซึ่งหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เป็นลบกับทิศทางฟันด์โฟลว์

ทั้งนี้ ช่วงที่ภาพรวมตลาดกังวลกับ “เทรดวอร์” จึงมองเป็นโอกาสสำหรับการทยอยซื้อ เนื่องจากตลาดตอบรับกระแสข่าวมาสักระยะ และหากยังไม่ได้มีการยกระดับ ภาพของการปรับตัวลงมีโอกาสฟื้นตัวสลับได้ และดัชนีต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด ลงไปจะเทรดที่ PE ประมาณ 13.7 เท่า ถือว่าพื้นฐานตลาดหุ้นน่าสนใจ จะมีแรงซื้อเข้ามา จึงแนะนำซื้อบริเวณนี้ได้หากต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด

ส่วนหุ้นแนะนำให้ทยอยสะสมกลุ่มบลูชิพอิงกลุ่มหุ้น Domestic Play เน้นการบริโภคจากมาตรการ Easy E-Receipt และแจกเงินหมื่นเฟส 2 ให้ผู้สูงอายุ แนะนำ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และกลุ่มท่องเที่ยว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งช่วงที่ราคาต่ำกว่า 60 บาท เป็นโอกาสเข้าซื้อ และกลุ่มแบงก์ราคาแกร่งกว่ากลุ่มอื่น เป็นโอกาสซื้อกลุ่มมีปันผลเด่น อาทิ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ผันผวน หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับเม็กซิโก แคนาดา ที่ 25% ขณะที่จีน 10% และทุกประเทศส่งสัญญาณจะตอบโต้กลับทันที ทำให้ตลาดมีความกังวลผลกระทบต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ และส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเป็นลบด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่านโยบายสงครามการค้าที่จะมีผลต่อจีนจะค่อยเป็นค่อยไป และคาดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเน้นเลือกประเทศที่ได้ดุลการค้าเพิ่มจากสหรัฐฯ สูง อาทิ ยุโรป, เวียดนาม, เกาหลี และไต้หวัน ก่อน ซึ่งน่าจะเป็นบวกต่อไทย ดังนั้นประเมินในระยะกลางและยาว จะได้รับประโยชน์ทางบวกจากการย้ายฐาน

นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ ปรับลดลงแรงเป็นผลจาก “ตลาดแพนิก” หรือวิตกกังวลในหลายเรื่อง ทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทยอยออกมา และงบฯ พรีวิวของบริษัทใหญ่ เช่น DELTA ที่ประเมินว่างบไตรมาส 4/2567 น่าจะออกมาไม่ได้ดีนัก นอกจากนี้ยังเป็นผลจากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ด้วย ทำให้ภาพรวมของเอเชียไม่ดี

กลยุทธ์การลงทุน จะต้องจับตางบบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยออกมา และที่สำคัญคือการซื้อหุ้นไทยจะทำเหมือนเดิมไม่ได้ จะซื้อหว่านกลุ่มไม่ได้ เช่น ปิโตรเคมี ไฟฟ้า ไม่ได้ จะต้องเลือกซื้อตัวที่หากดัชนีขึ้น หุ้นจะต้องไล่ขึ้นตาม ดังนั้นแนะนำรอ DELTA งบออก เทรดดิ้งซื้อตามได้, GULF เป็นผู้นำโรงไฟฟ้า หากโรงไฟฟ้ากลับมาเชื่อว่าจะมาก่อน โดยกลุ่มแบงก์ หากราคาย่อลงมา แนะนำ BBL, KBANK, SCB แต่เลือก SCB เป็นหลัก

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยดาวน์ไซด์เริ่มจำกัดแล้ว ประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) อยู่ที่ระดับ 13-15 เท่า โดยกรอบแนวรับสำคัญถัดไปที่ 1,247 จุด เป็นจุดที่ตลาดสร้างฐานใหม่ กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 ออกมาดี และหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง

โดยหุ้นที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 ดี เช่น หุ้นท่องเที่ยว AOT, ERW, SPA ขณะที่หุ้นที่ให้ปันผลสูง แนะนำ กลุ่มโรงไฟฟ้า EGCO, RATCH และหุ้นแบงก์ KTB, SCB

นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลงเป็นความผันผวนตามตลาดต่างประเทศ จากความกังวลของมาตราการทรัมป์ 2.0 ที่ทยอยเดินหน้า รวมถึงแรงขายกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มีแรงขายออกมาเยอะนับตั่งแต่ต้นปี 2568 ขณะที่แรงซื้อแทบไม่มี

ด้านกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท ยังใช้เงินลงทุนไม่หมด ส่วนนักลงทุนต่างชาติไม่ซื้อหุ้นไทย และส่วนใหญ่เป็นการขายออก อย่างไรก็ตามความผันผวนดังกล่าวมองเป็นระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้แนะนักลงทุนควร wait & see ทั้งหุ้นไทยและกองทุนหุ้นไทย เพื่อหาจังหวะเข้าลงทันรวมถึงทยอยซื้อ รับโอกาสดัชนีกลับมาแตะที่ระดับ 1,500-1,530 จุด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณานำ LTF กลับมาอีกครั้ง เพื่อเป็นช่วยเป็นแรงกระเพื่อมหุ้นไทยให้กลับมาคึกคัก โดยขอเป็น LTF ที่เป็นการลงทุนหุ้นไทย โดยไม่มีตราสารหนี้ผสม หรือภายใต้โมเดล LTF เดิมที่ให้วงเงินรับสิทธิลดหย่อนภาษีสูงถึง 500,000 บาท หรือหากได้สิทธิลดหย่อนภาษีไปถึงตัวเลขดังกล่าว อย่างน้อยควรอยู่ที่ระดับ 200,000-300,000 บาท ซึ่งมั่นใจจะเป็นแรงผลักดันหุ้นไทยกลับมาคึกคักได้

พร้อมกันนี้ บลจ.ทิสโก้ มั่นใจการกลับมาของหุ้นไทยที่ระดับ 1,500-1,530 จุดภายในปีนี้ ประกอบกับดัชนีไทยล่าสุดปรับตัวลงมาบริเวณ 1,300 จุด จึงเป็นจังหวะดีในการออก “กองทุนทริกเกอร์หุ้นไทย” ในเดือน ก.พ.นี้ โดยเป้าหมายดัชนีในการออกทริกเกอร์หุ้นไทยของทิสโก้อยู่ระดับ 1,350 จุด และเป้าทำกำไรทริกเกอร์ 5% ภายใน 5 เดือน

Back to top button