“บล.ทิสโก้” แนะเก็บ 7 หุ้นหลบภัย เดือน ก.พ.นี้

บล.ทิสโก้ แนะนำ 7 หุ้นหลบภัย ประจำเดือนก.พ. หลังตลาดหุ้นไทยผันผวนและมูลค่าตามบัญชีต่ำใกล้ช่วงวิกฤติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ก.พ.68) นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะตกต่ำจนใกล้สุกงอม จากอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) อยู่ในระดับต่ำ มูลค่าซื้อขายลดลงเกือบ 60% จากจุดสูงสุด และสภาพคล่องในตลาดลดลงต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมการลงทุนนั้นในเชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองว่า หุ้นกลุ่ม BANK และ กลุ่ม COMM เป็นกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในช่วงนี้ โดยเน้นหุ้นที่อยู่ใน SETHD Index ที่มีโอกาสชนะตลาดในระยะสั้น คือ AP, BBL, KTB, TASCO ผสานกับหุ้นอิงการบริโภคในประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ และไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ คือ BJC และ CRC และหุ้นม้ามืดที่อาจถูกหยิบขึ้นมาเก็งกำไรในเดือน กุมภาพันธ์จากการจ่ายเงินปันผลที่สูง คือ KGI

ดังนั้น หุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนกุมภาพันธ์ คือ AP, BBL, BJC, CRC, KGI, KTB และ TASCO  ด้านแนวรับสำคัญของเดือนก.พ.อยู่ที่ 1,300 จุด หากหลุดแนวรับถัดไป 1,270-1,280 จุด ส่วนแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,340 จุด โดยหากทะลุไปได้แนวต้านถัดไป 1,365-1,370 จุด ตามลำดับ

สำหรับรายละเอียดที่ บล.ทิสโก้ มองว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะตกต่ำนั้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) โดยรวมถืออยู่ในโซนต่ำบนเส้นแนวโน้ม PBV ระยะยาวที่เคยผ่านวิกฤติมาแล้ว 3 ครั้ง คือ 1. วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 2. วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 และ 3. วิกฤติโควิดปี 2563 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า, 0.8-0.9 เท่า และ 1.1-1.2 เท่าตามลำดับ

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีสัดส่วนหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (BV) (PBV น้อยกว่า 1 เท่า) จำนวนมากถึง 58% ของหุ้นทั้งหมด 926 ตัวทั้งในตลาด SET และ mai เทียบกับช่วงวิกฤติ 3 ครั้ง ก่อนที่สัดส่วนนี้อยู่ที่ 60-70%

ภาวะตกต่ำของตลาดนอกจากจะดูได้จากระดับ PBV ในตลาดแล้ว ยังสามารถดูได้จาก มูลค่าการซื้อขายในตลาด ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายหุ้นไทยลดลงจากที่ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เฉลี่ยวันละ 8.8 หมื่นล้านบาทในปี 2564 มาเหลือเพียงเฉลี่ยวันละ 3.7 หมื่นล้านบาทในเดือนที่แล้ว หรือลดลงเกือบ 60% ขณะที่ Turnover Ratio ก็ลดลงเหลือเพียงประมาณ 20% ต้น ๆ ซึ่งเป็นระดับ -1SD จากค่าเฉลี่ยระยะยาว

นอกจากนี้ ตัวชี้วัดสภาพคล่องในตลาดโดยผ่านการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหุ้นหรือการจำนำหุ้นในการค้ำประกันเงินกู้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากระดับสูงสุดที่มีมูลค่ากว่า 4.14 แสนล้านบาท ลดลงมากกว่า 40% เหลือ 2.44 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวแล้ว สะท้อนการ Deleverage ของตลาดไปมากพอสมควรแล้ว ดังนั้นเราการถูกบังคับขายจากการปรับตัวลงของราคาหุ้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญเหมือนที่ผ่านมาแล้ว

Back to top button