สรท. ชี้ส่งออกไทย Q1 ขยายตัว 3% เฝ้าระวังสงครามการค้า-เงินบาทผันผวน
"สรท. คาดส่งออกไทยปี 68 ขยายตัว 1-3% มูลค่าราว 72,500 ล้านดอลลาร์ ไทยต้องเผชิญกับปัญหาสงครามการค้า นโยบายสหรัฐ เงินบาทผันผวน และระวังขนส่งสินค้าทางทะเล
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสแรก ของปี 2568 ว่าจะขยายตัวได้ 2-3% ที่มูลค่าราว 72,500 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 24,000-24,500 ล้านดอลลาร์
พร้อมมองว่า สถานการณ์ในปี 68 นั้น ไทยต้องเผชิญกับปัญหาสงครามการค้า เนื่องจากการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วน 17% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม ขณะที่ในปี 67 การส่งออกของไทยไปสหรัฐ ขยายตัว 13.7% แต่ยังดีที่ไม่เกิดผลกระทบรุนแรง เนื่องจากมีแนวโน้มแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการเจรจาต่อรองกันจนสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้
โดย ประธาน สรท. คาดว่า ในปี 2568 การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 1-3% หรือมีมูลค่า 3.05 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยเสี่ยง และความผันผวนที่สำคัญต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ได้แก่
1.นโยบายของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางการค้าในระยะต่อไป
2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่มีข้อยุติทั้งกรณีของรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
3.ค่าเงินบาทที่ผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้นักลงทุนถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
4.ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล เช่น การบริหารจัดการเที่ยวเรือและระวางเรือ, ผลกระทบการเปลี่ยนกลุ่มพันธมิตรสายเรือ, ความแออัดของท่าเรือแหลมฉบัง
5.ประเด็นอื่น ๆ เช่น ต้นทุนผู้ประกอบการยังค่อนข้างสูง ทั้งต้นทุนพลังงาน, ต้นทุนค่ารแรง, ต้นทุนทางการเงิน ความพร้อมของไทยในการรับมือกับรูปแบบ และมาตรการทางการค้าแบบใหม่
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมหารือร่วมกันได้ราวกลางเดือน ก.พ.68 หลังจาก รมว.พาณิชย์ นำคณะกลับจากเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องคณะทำงานเพื่อดูแลผลกระทบที่อาจเกิดจากนโยบายทรัมป์ 2.0 เป็นการเฉพาะ เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายเป็นหนึ่งเดียว
นายชัยชาญ กล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการไปขณะนี้เป็นเหมือนการเก็งข้อสอบ เพราะยังไม่รู้ว่าโจทย์เกี่ยวกับสงครามการค้าจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเราจะต้องรู้ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเมื่อใด ผลกระทบมากหรือน้อยเพียงใด และผลกระทบต่อสินค้าใดบ้าง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาหารือร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการรองรับและแก้ไขปัญหา หากสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของ กรอ.พาณิชย์จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะสถานการณ์ในปีนี้ท้าทายมาก โจทย์ค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน ข้อเสนอของ สรท.ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้กันอยู่แล้ว และคาดว่าในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จะได้มีการหารือเช่นกัน
เราควรเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางป้องกันผลกระทบ แปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส หากไม่เกิดปัญหาก็ไม่เป็นอะไร เหมือนหลายปีที่ผ่านมาไม่มีปัจจัยบวกเลย แต่ก็ยังหาทางทำให้การส่งออกขยายตัวได้