“บอร์ดหมู” ชี้ ปี 68 แนวโน้มราคาเนื้อสุกรสูงขึ้น หลัง “จีน-อียู” ปริมาณผลิตลดลง

บอร์ดหมู ชี้ แนวโน้มราคาเนื้อสุกร ปีนี้จะสูงขึ้น เหตุปริมาณผลิต จากแหล่ง “จีน-อียู” ลดลง เดินหน้ามาตรการรักษาเสถียรภาพราคา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ม.ค.68) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2568 โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิตเนื้อสุกรของโลกในปี 2568 ว่าจะลดลง 1% มาอยู่ที่ 115.1 ล้านตัน จากเดิมปี 2567 ผลิตได้ 116.02 ล้านตัน

เนื่องจากแหล่งผลิตเนื้อสุกรลำดับต้นของโลก ทั้งจีนและสหภาพยุโรป มีการปริมาณแม่พันธุ์และการบริโภคเนื้อสุกร ลดลงในปี 2567 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และบราซิล มีการผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์การผลิตสุกรขุนของไทย ปี 2567 ผลิตได้ 23.46 ล้านตัว ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 14.67% หรือ 20.46 ล้านตัว เป็นผลจากการปรับตัวของฟาร์มสุกร ที่ทำระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และราคาสุกรมีชีวิตมีเสถียรภาพในปี 2566

สำหรับปี 2567 ราคาสุกรมีชีวิต เฉลี่ยกิโลกรัมละ 72.91 บาท ส่วนราคาเนื้อสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 132.26 บาท และคาดว่าปี 2568 ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนผลการดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาเนื้อสุกร มีการปราบปรามเนื้อสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง และตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน ปี 2567 จำนวน 43,262 ตัว รวมถึงเปิดตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาเนื้อสุกร

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ และผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ 16 ราย ในการคุมปริมาณสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้หยุดการขยายฟาร์มแม่พันธุ์ใหม่ คงระดับจำนวนแม่พันธุ์สุกรให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.2 ล้านตัว ในปี 2568 เพื่อลดความผันผวนของราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในภาพรวมทั้งประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อร่วมคัดเลือกเป็นคณะกรรมการภาคเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ด้วย

Back to top button