CP Group เผชิญทางสองแพร่ง.!
กรณีครอบครัวผู้ก่อตั้ง Seven & i เจ้าของบริษัท 7-ELEVEN สัญชาติญี่ปุ่น กำลังเจรจากับกลุ่ม Itochu, Apollo Global Management และ CP Group
กรณีครอบครัวผู้ก่อตั้ง Seven & i เจ้าของบริษัท 7-ELEVEN สัญชาติญี่ปุ่น มูลค่ากิจการกว่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) กำลังเจรจากับกลุ่ม Itochu ทุนยักษ์ใหญ่, Apollo Global Management และ CP Group เจ้าของกิจการร้าน 7-Eleven กว่า 12,000 สาขาในไทย เพื่อขอให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการซื้อกิจการเพื่อบริหารโดยฝ่ายบริหาร (Management Buyout) ของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกญี่ปุ่น
เป้าหมายสำคัญ..นั่นก็คือป้องกันการซื้อกิจการมูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) จาก Alimentation Couche-Tard (อาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ด) จากประเทศแคนาดา (คูช-ตาร์ด) พันธมิตรหลักของกลุ่ม Family Mart ที่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Seven ELEVEN นั่นเอง..!!
ทำให้ชั่วโมงนี้ CP Group ตกอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” จะตัดสินใจเลือกแนวทางไหนดี.!!??
แนวทางแรก “ปฏิเสธข้อเสนอ” จากผู้ก่อตั้ง Seven & i (ดีลไม่ดัน) สิ่งที่จะตามมาคือความเสี่ยง หากกลุ่ม Family Mart ในคราบของ “คูช-ตาร์ด” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Seven & i คงไม่มีทางเก็บแบรนด์ 7-Eleven ไว้ให้เป็น “เสี้ยนหนามทางธุรกิจ” อย่างแน่อน..
นั่นหมายถึงสิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไข Master Franchise ที่ปัจจุบันบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้รับจาก Seven & i อาจต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ว่าแต่ชั่วโมงนี้ CP Group มีร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven กว่า 12,000 สาขา แทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ยังมีความจำเป็นต้องใช้แบรนด์ 7-Eleven อยู่อีกหรือไม่เท่านั้นเอง..
หากคำตอบที่ได้คือ “ไม่” งานนี้ CP Group ก็ไม่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อนในการหาเงินก้อนโตอะไรอีก หรือหากเลวร้ายสุดอาจมีเพียงค่าใช้จ่ายในการ “รีแบรนดิ้ง” เท่านั้นเอง..
แนวทางที่สอง “รับข้อเสนอ” จากผู้ก่อตั้ง Seven & i (ดีลดัน) สิ่งที่จะตามคือ CP Group ต้องระดมทุนมหาศาล เพราะการทำ Management Buyout อาจต้องใช้เงินมากถึง 2 ล้านล้านบาท และหากแชร์กับพันธมิตรอีก 3 ราย แบบเท่า ๆ กัน
งานนี้ CP Group อาจต้องใช้เงินร่วมลงขันมากถึง 500,000 ล้านบาท หากมองในเชิงการลงทุนถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” แต่เพื่อความจำเป็นอันปฏิเสธไม่ได้ หรือทำเพื่อเพื่อน..อันนี้สุดจะประเมินความคุ้มค่าได้
แต่นัยสำคัญ หาก “ดีลนี้ดัน” งานหนักหนีไม่พ้นจะต้องมาตกที่ CPALL และ CPAXT และมีเพียง 2 ทางเลือก คือออกหุ้นกู้ (ดอกเบี้ยสูงปรี๊ด) หรือเพิ่มทุนจดทะเบียน (ว่าแต่ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ จะเอาด้วยหรือไม่)
ส่วนเรื่องที่จะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน ปิดประตูไปได้เลย เพราะกลุ่มซีพีติดปัญหาเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมได้อีก
กลับมาที่ตัวแทนหมู่บ้าน..อย่าง CPALL และ CPAXT อดเป็นห่วงผู้ถือหุ้นไม่ได้จริง ๆ..
จากงบการเงินสิ้นสุดไตรมาส 3/2567 CPALL มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 45,980 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนรวม 210,819 ล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 387,715.05 ล้านบาท รวมหนี้สินทั้งหมด 598,534 ล้านบาท เงินสดสุทธิลดลง 21,163 ล้านบาท
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 1.93 เท่า อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 3.16 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) 0.58 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว 0.23 เท่า วงจรเงินสด (วัน) -25.12 วัน แถมหุ้นกู้ระยะยาวทั้งหมด 44 รุ่น มูลค่ารวม 227,072 ล้านบาท
ขณะที่ CPAXT มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 19,821 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนรวม 111,887 ล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 125,631 ล้านบาท รวมหนี้สินทั้งหมด 237,519 ล้านบาท เงินสดสุทธิลดลง 11,943 ล้านบาท
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.81 เท่า อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 2.98 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) 0.57 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว 0.20 เท่า วงจรเงินสด (วัน) -25.35 วัน แถมหุ้นกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ระยะยาวทั้งหมด 16 รุ่น มูลค่ารวม 61,339 ล้านบาท
เฮ้อ..เห็นตัวเลขแล้ว..ทางเลือก CP Group ดูมันช่าง “จำกัดจำเขี่ย” ตัดสินใจยากซะเหลือเกิน..!!
งานนี้ “ตัดใจจาก” น่าจะเป็นทางออกซะแล้วกระมัง..!!
จะได้ไม่ต้องทำร้ายตัวเองและผู้ถือหุ้นกันต่อไป
อิ..อิ..อิ