6 ก.พ. ลุ้น! ศาลคดีทุจริตฯ นัดชี้ชะตาคดี “ทรูดิจิทัลฯ” ฟ้อง “พิรงรอง” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษา 6 ก.พ.นี้ คดี “ทรูดิจิทัลฯ” ฟ้อง “พิรงรอง” กรรมการ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 6 ก.พ.68 ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์

สืบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนต่อที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากพบว่า บนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน “ทรูไอดี” มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ปฯ ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดี ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ต่อมา คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และสำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่า มีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสต์แครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้

แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัท ทรูดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของ ดร.พิรงรอง ในฐานะประธานอนุกรรมการชุดนี้

สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุอีกว่า ในคำร้องของ บริษัท ทรูดิจิทัลฯ อ้างว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจทำการระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน ในคำร้องได้อ้างว่า ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)

ด้าน ดร.พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าวมาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตามทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค ข้อสังเกตว่า “หนังสือดังกล่าวที่ออกโดยสำนักงาน กสทช. มิใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฏหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับหนังสือข้างต้น และจะปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ในประเด็นมัสแครี่ อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ก็ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย และผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อรายการที่อยู่ภายใต้การประกอบการของตน”

เมื่อเดือนเมษายน 2567 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องบริษัททรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

แต่ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

ทั้งนี้หาก ดร.พิรงรอง ถูกตัดสินให้มีความผิดและไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว ระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กรรมการ กสทช. ทันที เนื่องจากเข้าลักษณะต้องห้ามของกรรมการ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 7 (6) และ (7)

ขณะเดียวกัน ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Back to top button