กรรมการป.ป.ช. ไฟเขียวเลือก “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” นั่งเก้าอี้ประธาน เสริมความโปร่งใส
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติเลือก “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ ด้วยคะแนน 5 ต่อ 2 โดยจะทำหน้าที่จนถึงปี 2570 เสริมสร้างความโปร่งใสในการทำงานและยกระดับการวินิจฉัยคดีให้ได้รับการยอมรับจากสังคมมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการลงมติเลือกประธานกรรมการป.ป.ช.คนใหม่ โดยหลังจากที่ นายประภาศ คงเอียด ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ กรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบัน มี 7 ราย ประกอบด้วย
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ,นางสุวณา สุวรรณจูฑะ , นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ,นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ , นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ , นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง และ นายประภาศ คงเอียด และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 14 ระบุว่า ในกรณีที่มีกรรมการ ป.ป.ช. จำนวนถึง 7 คน ก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการป.ป.ช.โดยเร็ว เพราะนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการป.ป.ช.นั้น ทั้งสองคนครบวาระการดำรงตำแหน่งตามกฎหมายและรอผลการลงมติการสรรหากรรมการป.ป.ช.อีกสองรายที่จะมาทำหน้าที่แทนนายวิทยาและนางสุวณาจากวุฒิสภา
อีกทั้งมติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วันนี้ ลงมติ 5:2 เลือก นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี เป็นประธานป.ป.ช.ที่จะทำหน้าที่ไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2570 โดยนายสุชาติได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น “กรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2563 โดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563
สำหรับประวัติการศึกษา
- ปี 2527 นิติศาสตรบัณทิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปี 2528 เนติบัณทิตไทย เนติบัณทิตย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ปี 2542 นิติศาสตร์ มหาบัณทิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ปี 2551 กระทรวงยุติธรรม หลักสูตร การบริหารงานยุติธรรมระดับสูง รุ่น 1
- ปี 2559 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 58
- ปี 2561 สถาบันวิทยาการพลังงาน หลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 58
- ปี 2561 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตร เศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 1
- ปี 2562 วิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม หลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 23
ส่วนประวัติการทำงานนั้น เคยเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดศรีสะเกษ, เลขานุการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 3, เลขานุการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุโขทัย, เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 6, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง และเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี
อีกทั้งยังเคยเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมัยยึดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557
นอกจากนี้บรรยากาศที่สำนักงานป.ป.ช.ในวันนี้พบว่าบุคลากรในสำนักงานป.ป.ช. มีความยินดีที่ทราบผลการลงมติดังกล่าวเพราะการทำงานของสำนักงานป.ป.ช.จากวันนี้เป็นต้นไปจะได้มีทิศทางที่ชัดเจนและสังคมยอมรับกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะช่วงที่ผ่านมา สำนักงานป.ป.ช.โดนสังคมตำหนิด้านความโปร่งใสในการวินิจฉัยคดีต่างๆหลายวาระ