“คลัง” มั่นใจ GDP ปีนี้โต 3% ย้ำแจก “เงินหมื่น” เฟส 3 ไตรมาส 2/68

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” มองเศรษฐกิจปีนี้ผันผวน แต่มั่นใจว่า GDP ปีนี้จะเติบโตระดับ 2.5-3.5% จากนโยบายภาครัฐที่จะขับเคลื่อน ย้ำแจกเงินหมื่นเฟส 3 ภายในไตรมาส 2/68


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจไทย ความท้าทาย และโอกาส ในปี 68” ว่า ตนยอมรับว่าเศรษฐกิจปีนี้มีความผันผวน และการรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลมั่นใจว่าปีนี้จะรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไว้ได้ที่ระดับ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% ซึ่งจะมาจากการออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต การผลักดันการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ การออกมาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 38.5 ล้านคน

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตที่ 3.3% ด้านการส่งออกคาดจะเติบโตได้ 4.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายการลงทุนปีนี้อยู่ที่ 80% ซึ่งสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 75%

ด้านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระยะที่ 3 (เฟส3) ล่าสุดจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้ไม่เกินไตรมาส 2/68 อย่างแน่นอน โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเดือนก.พ.นี้ และนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

โดยยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมทั้งเม็ดเงิน และการเชื่อมระบบที่ได้หารือกับสถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามในระยะที่ 3 นั้นจะมีการปรับเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อให้กลไกในการหมุนของเงินง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ 3 ยืนยันว่าจะเป็นการแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เงินสดอย่างแน่นอน

ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น รัฐบาลจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนอย่างแน่นอน โดยต้องรอดูความชัดเจนภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ใกล้เคียงกับการดำเนินการจ่ายเงินในเฟสที่ 3

เรายังมีอีกหลายโครงการเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และมีการเร่งรัดโครงการหลายอย่าง เช่น บ้านเพื่อคนไทย การกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว ปีนี้ตั้งเป้า 38.5 ล้านคน เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องของความพยายามเร่งรัดการลงทุน เรามองตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี่ที่ 3% แต่เราไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะไม่ใช่ตัวเลขที่พอใจ มันควรจะเติบโตได้ถึง 3.5% หรือหากอยากจะเห็นคือ 5% เพราะเป็นศักยภาพของไทย แต่หากโตไปถึงขนาดนั้น รัฐบาลเติมเข้าไปอีกจะเกิดปัญหาไหม เป็นข้อที่รัฐบาลห่วงใย” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ เศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ยอมรับว่า กระทรวงการคลังได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด แต่สุดท้ายเชื่อว่าอยู่ที่เวทีการเจรจา รวมถึงสิ่งสำคัญคือการปรับตัว โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปรับในเรื่องการลดการพึ่งพาการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องร่วมกันขับเคลื่อนกับเอกชน เพื่อลดการพึ่งพาประเทศคู่ค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

ด้านเงินเฟ้อ จะเริ่มควบคุมได้ ดังนั้นแนวนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยโลกน่าจะเริ่มลดความตึงเครียดลง ไทยเอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่านโยบายการเงินการคลัง สุดท้าย เราก็ต้องล้อตามทิศทางของโลกเช่นเดิม” นายจุลพันธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะทำในระยะสั้น คือ การทำ FTA โดยภายในปีนี้จะเร่งเจรจา FTA กับทางยุโรปได้ ขณะเดียวกันจะต้องเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI ซึ่งวันนี้พบว่า ตัวเลขขอรับคำส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ที่เป็นคำขอคงค้าง หากในปีนี้สามารถทำให้คำขอรับสิทธิบัตรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินลงทุนได้ถึง 75,000 ล้านบาท จะส่งผลให้จีดีพีขยับขึ้นได้ 0.1%

ขณะที่ในระยะกลาง ไทยยืนยันว่าจะเดินหน้าสู่ ESG เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ PM 2.5 ยิ่งสะท้อนและตอกย้ำการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วย นอกจากนี้ จะต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วย

ส่วนการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการแล้วนั้น หากในอนาคตทำได้ ไทยจะกลายเป็น Destination ด้านการเงินของโลก และเม็ดเงินที่ไหลเวียนทั่วโลก ก็จะไหลผ่ายไทยด้วย จะเกิดความหนาแน่นของเม็ดเงิน และสร้างตลาดที่มีศักยภาพและคุณภาพสูง ทำให้ต้นทุนเอกชนไทยลดลงด้วย

ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งใหม่ และหากดำเนินการได้ จะเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าจะเกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 5-10% เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวด้านการท่องเที่ยวเป็น 67,000 บาท และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมองว่า ไทยจำเป็นต้องมีแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ (Man-made Destination) เพราะไทยจะขายวัฒนธรรม หรือ ประเพณีแบบเดิมไม่ได้ แต่จะต้องหาแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ซึ่งหากทำสำเร็จ จะเปลี่ยนแปลง โลกทัศน์ของไทยในเวทีโลก นอกจากสร้างเม็ดเงินให้รัฐ สร้างประโยชน์ให้คนไทยโดยรวม

Back to top button